ข้อควรรู้เกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.)

0
2490

เพิ่มเพื่อน
หลายคนคงเคยได้ยินเกี่ยวกับเรื่องของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือที่เรียกกันแบบย่อสั้น ๆ ว่า กบข. ที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการที่จะได้รับเงินออมหลังวัยเกษียณ  ซึ่งถือเป็นข้อมูลแบบผิวเผินเท่านั้น สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการจำเป็นจะต้องเรียนรู้ข้อมูลของกองทุนนี้กันแบบละเอียดเจาะลึกเพื่อจะได้ทราบถึงข้อดีข้อเสียเกี่ยวกับกบข. ส่วนคนที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ การรับทราบข้อมูลในเรื่องของ กบข.นี้ไว้ด้วยก็ถือว่าไม่เสียหายอะไรค่ะ ถือว่าได้รับรู้เป็นความรู้รอบตัวเอาไว้เผื่อแนะนำเพื่อนฝูงหรือญาติที่เพิ่งเข้ารับราชการก็ถือเป็นเรื่องดีๆค่ะ วันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตัวนี้อย่างเจาะลึกอีกสเต็ปค่ะ
ก่อนอื่นต้องขอย้อนเวลากลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2537 กันก่อนนะคะ ก่อนหน้านั้นระบบบำเหน็จบำนาญที่เป็นสวัสดิการของข้าราชการยังไม่ได้มีลักษณะเป็นกองทุนเหมือนเช่นในปัจจุบัน แต่เป็นสวัสดิการที่เป็นงบประมาณโดยตรงของรัฐบาล เรียกได้ว่าระบบบำเหน็จบำนาญ ระบบบำเหน็จบำนาญแบบเดิมนี้ได้มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ค่ะ  แต่ต่อมาในยุคหลัง ๆ สวัสดิการบำเหน็จบำนาญที่ต้องจ่ายให้กับข้าราชการในแต่ละปีนั้นเป็นจำนวนเงินที่สูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี จนถือว่าเป็นภาระก้อนใหญ่กับงบประมาณการคลังของประเทศ ซึ่งที่มาของเงินที่จะนำมาจ่ายบำเหน็จบำนาญต่อข้าราชการถือเป็นภาระของประชาชนที่เสียภาษีให้กับรัฐบาลด้วยนั่นเอง นอกจากนั้นระบบบำเหน็จบำนาญราชการแบบเก่ายังทำให้การปรับโครงสร้างเงินเดือนของข้าราชการเป็นไปด้วยความลำบากอีกด้วย เพราะจะปรับมากเหมือนเอกชนก็ไม่ได้ เพราะมันจะยิ่งเป็นภาระงบประมาณรัฐบาลเรื่องบำเหน็จบำนาญในระยะยาว เงินเดือนของข้าราชการที่ทำงานจึงจะกำหนดให้สูงมากไม่ได้
จากปัญหาและอุปสรรคของระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเก่าตามที่ว่ามา ทำให้รัฐบาลพยายามหาวิธีในการปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้มีความทันสมัยและเหมาะกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากขึ้น จึงได้มีมติในวันที่ 16 สิงหาคม 2537 ในการจัดตั้งเป็นกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือ กบข.ขึ้นตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยข้าราชการจะต้องมีการสมทบเงินทุกเดือนในกองทุนนี้ด้วย กองทุน กบข. จึงถือเป็นเครื่องมือในการระดมเงินออมของข้าราชการในประเทศ ช่วยให้ข้าราชการมีเงินออมไว้ใช้ในยามเกษียณหรือเมื่อลาออกจากราชการ สำหรับรัฐบาลเองก็มีมีโอกาสได้ใช้เงินจากกองทุนนี้ไปใช้ในการบริหารประเทศด้วย โดยแรกที่มีการจัดตั้งกองทุนนี้ขึ้นได้มีข้อกำหนดให้ข้าราชการใหม่ที่บรรจุทำงานตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ต้องเข้าเป็นสมาชิกของกองทุน กบข. ทุกคน ส่วนผู้ที่เข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 ก็ให้เป็นการสมัครใจว่าจะเข้าเป็นสมาชิกของ กบข. หรือไม่ก็ได้ หากข้าราชการคนใดไม่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกก็จะได้รับเงินบำเหน็จบำนาญตามระบบเดิม




ทีนี้เรามาดูว่าระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชหรือ กบข. ที่จัดตั้งขึ้นใหม่นี้ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิมจะครอบคลุมข้าราชการทุกประเภทรวมข้าราชการการเมืองด้วย ในขณะที่ กบข.จะไม่รวมข้าราชการการเมือง ส่วนเรื่องของบำเหน็จหรือบำนาญที่จะได้รับ จะขอแบ่งเป็นกรณีตามนี้ค่ะ

เกษียณอายุและมีอายุราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป

  • หากเป็นระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิม มีสิทธิเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้ หากเลือกรับเป็นบำเหน็จก็จะได้รับเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาที่รับราชการ หากเลือกรับเป็นบำนาญก็จะได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาที่รับราชการและหารด้วย 50
  • สำหรับสมาชิกกองทุน กบข. มีสิทธิเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญก็ได้เช่นกัน โดยหากเลือกรับบำเหน็จจะได้รับเงิน 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือเงินบำเหน็จที่จะคิดจากเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการเหมือนกับระบบเดิม แต่จะได้รับส่วนที่สองเพิ่มด้วยก็คือ เงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินที่สมทบมา หากเลือกรับเป็นบำนาญก็จะได้รับ 2 ส่วนเช่นเดียวกัน ส่วนแรกเป็นเงินบำนาญที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือให้คิดจากเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายคูณเวลาราชการและหารด้วย 50 แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย ส่วนที่สองเป็นเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว

ลาออกจากราชการหรือถูกปลดออกจากราชการ (อายุไม่ถึง 50 ปี)

  • หากมีอายุราชการไม่ถึง 10 ปี ระบบเดิมจะไม่มีสิทธิรับบำเหน็จหรือบำนาญ สมาชิก กบข. ก็จะไม่มีสิทธิรับบำเหน็จหรือบำนาญเช่นเดียวกัน แต่จะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวคืน
  • หากมีอายุราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่เกิน 25 ปี ระบบเดิมจะมีสิทธิได้รับเฉพาะบำเหน็จเท่านั้น สมาชิก กบข. ก็จะมีสิทธิได้รับบำเหน็จและเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวด้วย
  • หากมีอายุราชการตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ระบบเดิมมีสิทธิได้รับบำเหน็จและบำนาญ สมาชิก กบข. ก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จและบำนาญเช่นเดียวกัน มีสิทธิเหมือนกับกรณีเกษียณอายุ

ออกจากราชการเพราะทุพพลภาพ ทดแทน หรือสูงอายุ หรือถูกปลดจากราชการ (อายุ 50 ปีขึ้นไป)

  • หากมีอายุราชการตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10 ปี ระบบเดิมมีสิทธิได้รับเฉพาะบำเหน็จ สมาชิก กบข. ก็มีสิทธิได้รับเฉพาะบำเหน็จเช่นเดียวกัน และรวมเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินนั้น
  • หากมีอายุราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ระบบเดิมมีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ สมาชิก กบข. ก็มีสิทธิได้รับบำเหน็จหรือบำนาญและเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์คืนเช่นเดียวกับกรณีเกษียณอายุ
  • หากเกิดทุพพลภาพเนื่องจากการปฏิบัตหน้าที่ราชการ นอกจากจะได้รับสิทธิบำเหน็จหรือบำนาญเหมือนกับกรณีเกษียณอายุแล้ว ยังจะได้รับเงินบำนาญเพิ่มเป็นพิเศษอีกจาก พรบ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494

ถูกไล่ออกจากราชการหรือเสียชีวิตเพราะประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

  • ระบบเดิมจะไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ
  • สมาชิก กบข.หรือทายาทจะได้รับเฉพาะเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินนั้นเท่านั้น

เสียชีวิตในระหว่างรับราชการ

  • หากเป็นระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิม ทายาทจะได้รับเงินบำเหน็จตกทอด เท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ หากการเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทายาทก็จะได้รับเงินบำนาญพิเศษเพิ่มด้วย
  • สำหรับสมาชิกกองทุน กบข. ทายาทจะได้รับเงิน 2 ส่วน ส่วนแรกคือบำเหน็จตกทอดที่จะได้รับเท่ากับเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยเวลาราชการ และได้รับเงินส่วนที่ 2 ที่เป็นเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ด้วย หากการเสียชีวิตเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทายาทจะได้รับเงินบำนาญพิเศษเพิ่มด้วย

เสียชีวิตระหว่างรับเงินบำนาญ

  • หากเป็นระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการแบบเดิม ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอดคิดเป็นเงินเท่ากับเงินบำนาญที่ได้รับอยู่คูณด้วย 30
  • หากเป็นสมาชิก กบข. ทายาทจะได้รับบำเหน็จตกทอดคิดเป็นเงินเท่ากับเงินบำนาญที่ได้รับอยู่คูณด้วย 30 เช่นเดียวกัน

จะเห็นว่าเงินส่วนที่จะช่วยลดภาระเงินงบประมาณของรัฐบาลก็จะเป็นส่วนของบำนาญหลังเกษียณอายุราชการเกินกว่า 25 ปีเท่านั้น ที่ระบบเดิมให้ใช้ฐานเงินเดือนเดือนสุดท้ายในการคำนวณ ในขณะที่กบข. จะให้ใช้ฐานเฉลี่ยที่ 60 เดือนสุดท้ายในการคำนวณ และมีกำหนดขั้นต่ำไว้ว่าเงินบำนาญจะต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนนั้นด้วย

นอกจากเรื่องฐานเงินเดือนของเงินบำนาญที่ว่า หากเปรียบเทียบกันกรณีอื่น ๆ จะเห็นว่าการเป็นสมาชิก กบข. จะให้ประโยชน์ที่มากกว่าในเรื่องของเงินบำเหน็จบำนาญราชการที่เพิ่มเติมจากเงินสะสม เงินสมทบและผลประโยชน์ที่ได้จากการที่กองทุนนำเงินดังกล่าวไปลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนด้วย สมาชิก กบข. ยังได้รับสิทธิประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ เช่น การลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้ากองทุนในแต่ละปี รวมถึงสิทธิในการขอกู้เงินจากกองทุนได้ด้วย โดยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
อ้างอิง https://www.gpf.or.th/thai2013/about/pension-thai-compare.asp

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ จาก กบข.
“สมาชิก กบข.” ข้าราชการเกษียณแล้ว…ได้อะไรบ้าง >>> https://krustation.com/สมาชิก-กบข-ข้าราชการเกษ/
ข้อควรรู้เกี่ยวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) >>> https://krustation.com/ข้อควรรู้เกี่ยวกับ-กบข/
สิทธิการรับเงิน กบข. คืน เมื่อ เกษียณอายุราชการ หรือ ลาออก กรณีต่าง ๆ >>> https://krustation.com/สิทธิการรับเงิน-กบข-คืน/
การขอรับเงินคืนเมื่อเกษียณอายุราชการ หรือ พ้นสมาชิกสภาพ กบข. >>> https://krustation.com/การขอรับเงินคืน-กบข/
จริงหรือ? เป็นสมาชิก กบข. แล้วจะไม่มีสิทธิ์รับบำเหน็จบำนาญ >>> https://krustation.com/บำเหน็จบำนาญ-กบข/

ที่มา: Moneyhub
อย่าลืมกดถูกใจเพจสถานีครูดอทคอม ไว้ด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดข่าวครู สื่อการเรียนการสอนของครูจากเรา เพราะเราอยากเห็นคุณครูมีความสุข

Comments

comments

- Advertisement -

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่