ผลงานการประเมินวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เรื่อง สนุกกับภาษาอังกฤษ ด้วย flash card

0
615

ผลงานการประเมินวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เรื่อง สนุกกับภาษาอังกฤษ ด้วย flash card โดย นางจารุวรรณ หาญนาแซง ครูชำนาญการโรงเรียนบ้านพระเพลิง จ.สระแก้ว

1.ความสำคัญของผลงาน หรือนวัตกรรมที่นำเสนอ

1.1 ความเป็นมาและสภาพปัญหา
หน้าต่างแห่งโอกาสของการเรียนรู้หรือ Window of Opportunity คือ การที่สมองมีช่วงเวลาที่เป็นโอกาสทองในการวางพื้นฐานการเรียนรู้แต่ละเรื่องแตกต่างกันไป เป็นช่วงเวลาที่ประตูการเรียนรู้ในสมองเปิดกว้างเต็มที่ ถ้าเด็กไม่เรียนรู้ในช่วงเวลานี้ การพัฒนาให้เต็มศักยภาพจะทำได้ยาก เพราะผ่านช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเรียนรู้เรื่องนั้นๆไปแล้ว เช่น การเรียนภาษาที่สอง เด็กจะเรียนรู้และพัฒนาการใช้ภาษาที่สอง โดยเฉพาะสำเนียงและโครงสร้างประโยคได้อย่างง่ายดายภายในอายุ 7 ขวบ ถ้าหลังจากช่วงโอกาสนี้ความสามารถจะลดลง แม้หน้าต่างแห่งโอกาสนี้จะเกิดขึ้นตามวัยของเด็ก แต่เด็กไม่สามารถจะเปิดหน้าต่างเองได้ พ่อแม่ และครูจึงเป็นคนสำคัญที่จะมอบโอกาสนี้ให้แก่เด็ก ซึ่งหากเวลาล่วงเลยไปโดยไม่ได้รับการใส่ใจ หน้าต่างแห่งโอกาสจะค่อยๆปิดตัวลง และจะไม่หวนกลับมา ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบว่าช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศของมนุษย์ คือ แรกเกิด-7 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีความสามารถพิเศษบางประการ ที่ช่วยให้การเรียนรู้เกิดขึ้นได้เร็วกว่าการมาเรียนภาษาที่สองเมื่อโตแล้ว
การสอนภาษาอังกฤษนับเป็นสิ่งจำเป็นสําหรับการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะตามแนวนโยบายการเตรียมความพร้อมเด็กสู่ประชาคมอาเซียนที่มุ่งเน้นการให้เด็กใช้ภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือ ในการสื่อสารกับคนต่างชาติต่างวัฒนธรรมอื่น อย่างไรก็ตาม แนวการสอนภาษาอังกฤษสําหรับเด็กควร คํานึงถึงพัฒนาการตามวัยและความสามารถในการรับรู้ของเด็กเป็นสําคัญ ซึ่งตามหลักพัฒนาการของเด็ก วัยอนุบาลนั้น เด็กวัยนี้เป็นวัยที่เรียนรู้จากความสนใจเป็นหลัก (Emotional-based Learning) การเรียนรู้จาก การเล่น การมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้ใหญ่ผ่านแนวการสอนภาษาแบบองค์รวม( Whole Language Approach) ที่เน้นการจดจําโครงสร้าง รูปคํา (Word-shape Recognition) จะนําไปสู่ความสนุกสนาน ความรู้สึกอยากติดตาม และที่สําคัญเกิดการ จดจําและสามารถเชื่อมโยงการใช้คําศัพท์ที่เรียน สู่ชีวิตประจําวัน
ในยุคที่ภาษาอังกฤษได้เข้ามามีบทบาท กับการดำเนินชีวิตของคนไทยมากขึ้น เชื่อว่า พ่อแม่ทุกๆ คน อยากให้ลูกใช้ภาษาอังกฤษได้เป็น และใช้ได้ดี แต่การจะพัฒนาทักษะทางภาษาให้ลูกอย่างได้ผลนั้น หลายๆ ท่านอาจมีคำถามว่า แล้วจะให้เด็กเริ่มเรียนเมื่อไร
“เด็กวัยนี้เรียนรู้ด้วยวิธี การซึมซับจากตัวแบบ ดังนั้น ถ้าครูพูดภาษาอังกฤษกับเด็กในชั้นเรียนสม่ำเสมอ หรือคุณพ่อคุณแม่พูดภาษาอังกฤษที่บ้านเป็นประจำ เด็กก็จะเรียนรู้และมีทักษะภาษาอังกฤษที่ดีได้ไม่ยาก”
สำหรับปัจจัยที่สำคัญในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษนั้น เด็กต้องสนุกกับการเรียน เช่น คุณครูใช้สื่อการสอนหลากหลายชนิด จัดรูปแบบกิจกรรมให้เด็กมีทางเลือก และพัฒนาความฉลาดที่หลากหลายตามแนวคิดของทฤษฎีพหุปัญญา เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อการสอน กับครู กับเพื่อนๆ ในชั้นเรียนตลอดเวลา ไม่มีการท่องศัพท์ ไม่มีความเครียด มีแต่ความสนุกสนาน
“เนื่องจากเรากำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พ่อแม่ผู้ปกครองควรเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษตามวัยที่เหมาะสม และตามศักยภาพของเด็กแต่ละคน แต่ไม่ควรคาดหวังการเรียนรู้ของเด็กสูงเกินไป เพียงแต่ให้เด็กได้ทำความรู้จักกับภาษา เกิดความชอบ ความคุ้นเคย เรียนอย่างสนุกสนาน และอยากไปโรงเรียน เท่านี้ก็เพียงพอสำหรับเด็กปฐมวัยแล้ว”
ภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอนุบาล ตั้งแต่เอบีซี มีแบบฝึกคัดพยัญชนะ A-Z เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้อักษรภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งคำศัพท์ที่ควรเรียนรู้เป็นเบื้องต้น การเรียนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอนุบาล ควรเน้นที่คำศัพท์พื้นฐาน และประโยคง่ายๆ ก็พอ สังเกตจากการเรียนรู้ภาษาของเด็กๆจะเริ่มจากคำศัพท์ก่อนเป็นเบื้องต้น ตามด้วยวลีง่ายๆ และประโยคสมบูรณ์ท้ายที่สุด

1.2 แนวทางการแก้ปัญหาและพัฒนา
คุณครูออกแบบการจัดประสบการณ์ส่งเสริมทักษะภาษาอังกฤษให้กับเด็กปฐมวัย โดยนำแนวคิดมาจากนวัตกรรมการสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language Approach) ซึ่งเป็นนวัตกรรมการศึกษาที่เสนอแนวคิดใหม่ในการสอนภาษา เกิดจากความพยายามของนักการศึกษา และนักภาษาศาสตร์ ซึ่งมองเห็นปัญหาการเรียนรู้ภาษาของเด็กที่ครูมุ่งเน้นสาระทางภาษาเป็นหลัก ทำให้การเรียนการสอนไม่น่าสนใจ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติของเด็ก คือ ไม่เหมาะสมกับวัย ความสนใจ และความสามารถของเด็ก การสอนภาษาแบบองค์รวมทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน และสอนโดยคำนึงถึงธรรมชาติของเด็กปฐมวัย ผ่านการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เริ่มจากให้เด็กได้ฟังเพลง และนิทาน และค่อยเริ่มสอนคําศัพท์ภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับระดับเด็กปฐมวัยผ่านบัตรภาพประกอบคำ การที่ให้เด็กท่องเฉยๆเด็กอาจเบื่อได้ เพราะโดยธรรมชาติของเด็กปฐมวัยจะเรียนรู้ผ่านการเล่น จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อได้ลงมือกระทำ คุณครูจึงนำบัตรภาพประกอบคำมาจัดเป็นเกมต่างๆให้เด็กได้เล่น และรวมถึงการได้เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษต่างๆไปด้วย

2.จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
เพื่อปูพื้นฐานการเรียนภาษาอังกฤษให้กับเด็กปฐมวัย

3.กระบวนการผลิตผลงานหรือขั้นตอนการดำเนินงาน
3.1 การออกแบบผลงาน/นวัตกรรม
1) ศึกษานวัตกรรมรูปแบบการสอนภาษาแบบองค์รวม (Whole Language)
2) เปิดเพลง นิทาน ให้เด็กได้ฟังทุกวัน
3) กำหนดคำศัพท์ที่จะให้เด็กเรียนรู้เป็นหมวดๆ คือ หมวดสี หมวดสัตว์ หมวดผลไม้ การนับเลข อวัยวะในร่างกาย เป็นต้น
4) ผลิตบัตรภาพประกอบคำตามหมวดต่างๆที่กำหนดไว้
5) นำบัตรภาพประกอบคำมาจัดกิจกรรมที่หลากหลายในรูปแบบเกม
3.2 การดำเนินงานตามกิจกรรม
คุณครูดำเนินกิจกรรมตามที่ได้ออกแบบไว้ ดังนี้
1) เปิดเพลง นิทาน ให้เด็กได้ฟังทุกวัน
2) จัดกิจกรรมทุกวันจันทร์ และพุธ สัปดาห์ละ 2 วัน โดยกำหนดคำศัพท์ที่จะให้เด็กเรียนรู้เป็นหมวดหมู่ ก่อนเริ่มคำศัพท์หมวดใหม่จะต้องมีการทบทวนคำศัพท์หมวดเดิมทุกครั้ง
3) นำบัตรภาพประกอบคำมาจัดกิจกรรมเป็นเกมต่างๆอย่างหลากหลาย
ตารางแสดงหมวดหมู่บัตรภาพประกอบคำแต่ละสัปดาห์

สัปดาห์ หมวดหมู่
1 สี (Colour)
2 สัตว์ต่างๆ (Animal)
3 นับเลข (Count)
4 ผัก และผลไม้ (Vegetable and fruit)

  1. ผลการดำเนินการ/ผลสัมฤทธิ์/ประโยชน์ที่ได้รับ
    นักเรียนรู้จักคำศัพท์หมวดต่างๆที่กำหนดไว้ และมีพื้นฐานภาษาอังกฤษขั้นพื้นฐาน

5.ปัจจัยความสำเร็จ
นักเรียนสามารถจดจำ และตอบคำศัพท์หมวดต่างๆที่ครูสอนได้

6.บทเรียนที่ได้รับ
ข้อสังเกต
จากการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาพบว่าเด็กสนุกสนานกับกิจกรรมดี มีความกระตือรือร้นในการต้องการเรียนรู้คำศัพท์ ต้องการเล่นเกม และสามารถบอกคำศัพท์หมวดต่างๆได้ แต่บางคนก็มีการจำสลับกัน และบอกไม่ได้ในบางคำ
แนวทางการพัฒนา
-ให้เด็กได้เรียนรู้คำศัพท์ในหมวดใหม่ๆเพิ่มเติมต่อไป
-ปิดโอกาสให้เด็กทำกิจกรรมเป็นคู่ หรือเป็นกลุ่ม สลับกันทายคำศัพท์

7.การเผยแพร่
มีการเผยแพร่ให้ผู้ปกครอง คณะครูได้ชมการจัดกิจกรรม และเผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เน็ตต่างทั้ง Facebook line และ E-mail

ดาวน์โหลดเอกสาร

ผลงานการประเมินวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) เรื่อง สนุกกับภาษาอังกฤษ ด้วย flash card
แบบประวัติและผลงาน “ครูดีในดวงใจ” ครั้งที่ 19 พ.ศ. 2565 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1

Comments

comments

- Advertisement -