การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” แบบมีส่วนร่วมผ่านกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด

Home ฟอรั่ม บทคัดย่อ การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” แบบมีส่วนร่วมผ่านกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด

กำลังดู 1 ข้อความ - 1 ผ่านทาง 1 (ของทั้งหมด 1)
  • ผู้เผยแพร่
    บทคัดย่อ
  • #14426

    ชื่อเรื่อง   การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา         “พาน้องกลับมาเรียน” แบบมีส่วนร่วมผ่านกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด
    ผู้วิจัย     นางสาวปาลิกา  คำวรรณ์
    สังกัด     สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดน่าน  สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงศึกษาธิการ
    ปีที่วิจัย   พ.ศ. 2564 – 2565

    บทคัดย่อ

    การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาและสาเหตุที่ส่งผลให้ผู้เรียนในพื้นที่จังหวัดน่านหลุดจากระบบการศึกษาและออกกลางคัน 2) ศึกษารูปแบบการช่วยเหลือผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและออกกลางคันให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา การวิจัยเพื่อพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research: R2R) ใช้เทคนิคการวิจัยแบบผสมผสาน (Mix method research) ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพประชากรเป้าหมาย ได้แก่ 1) กลุ่มนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและออกกลางคันปีการศึกษา 2564 พื้นที่จังหวัดน่าน ตามโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียม
    ทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” กระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 356 คน 2) คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระดับจังหวัดน่าน และเครือข่ายการจัดการศึกษา จำนวน 15 คน 3) อนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาการศึกษา สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดน่าน จำนวน 10  คน  4) คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดน่าน จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบรายงานข้อมูล แบบสัมภาษณ์ การประชุม และการสนทนากลุ่ม เก็บรวมรวมข้อมูลโดยนำข้อมูลจากการศึกษาเอกสาร การสัมภาษณ์ การประชุม และการสนทนากลุ่ม มาพัฒนารูปแบบการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” แบบมีส่วนร่วมผ่านกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด สรุปผลโดยการวิเคราะห์ทางสถิติและวิเคราะห์เนื้อหา สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ

    ผลการวิจัย พบว่า 1) ผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและออกกลางคันก่อนที่จะจบการศึกษาตามหลักสูตรในพื้นที่จังหวัดน่าน จำนวนทั้งหมด 356 คน เป็นเพศชาย ร้อยละ 55.90 และเพศหญิง
    ร้อยละ 44.10 สังกัดที่มีผู้เรียนหลุดจากระบบและออกกลางคันมากที่สุดคือสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 53.09 ระดับการศึกษาที่มีผู้เรียนหลุดจากระบบและออกกลางคันมากที่สุดคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 31.18 ติดตามพบตัวผู้เรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาและ
    ออกกลางคันก่อนที่จะจบการศึกษาตามหลักสูตร จำนวน 349 คิดเป็นร้อยละ 98.03 โดยทุกสังกัดดำเนินการติดตามพบตัวร้อยละ 100 ยกเว้นสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)
    ที่ติดตามพบตัว ร้อยละ 90.91 โดยผู้เรียนที่พบตัวแล้วกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ร้อยละ 64.89 สาเหตุที่หลุดเนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ พฤติกรรมผู้เรียน และปัญหาสุขภาพ 2) ได้รูปแบบการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” แบบมีส่วนร่วมผ่านกลไกคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด ที่มีกลไกการขับเคลื่อน 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ติดตามตัวหาสาเหตุ 2) พัฒนาระบบสารสนเทศด้านข้อมูล 3) ร่วมมือเกื้อกูลพาน้องกลับสู่ระบบการศึกษา 4) พบตัวแล้วช่วยเหลือและส่งต่อ 5) บูรณาการหน่วยงานร่วมและภาคี และ 6) เสริมหนุนความยั่งยืนของกลไกจังหวัด

     

กำลังดู 1 ข้อความ - 1 ผ่านทาง 1 (ของทั้งหมด 1)
  • You must be logged in to reply to this topic.

บทความยอดนิยม