ผงะเงิบ!!! นักวิชาการ มข.เผยผลการวิจัยการทุจริตในวงการศึกษา 3 จังหวัดอีสานกลาง พบชัด ผู้บริหารสถานศึกษา นักการเมือง นักธุรกิจ ร่วมกันทุจริตจนกลายเป็นวัฒนธรรมฝังรากลึกในสังคม โดยหากมีโอกาส-จ้องทุจริตได้ทุกกรณี แถมมีอดีตผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังบางแห่งเรียกรับเงินใต้โต๊ะจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แต่การสอบสวนภาครัฐกลับเอาผิดไม่ได้
การทุจริตคอร์รัปชันในวงการศึกษาพบว่ามีหลายรูปแบบมาก ทั้งรูปแบบและลักษณะความร่วมมือการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษาเครือข่าย กลุ่มอิทธิพลมี 2 กลุ่มใหญ่คือ การทุจริตจากการจัดซื้อจัดจ้าง การก่อสร้าง และการจัดซื้อวัสดุคุรุภัณฑ์ทางการศึกษา การทุจริตคอร์รัปชันจากระบบบริหารงานบุคคล การทุจริตคอร์รัปชันจากการรับนักเรียนเข้าสถานศึกษา การทุจริตจากการเบี่ยงเบนงบประมาณที่ได้รับจากส่วนกลางและเงินอุดหนุนประเภทต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการทุจริตจากระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ครู การก่อสร้างสนามฟุตซอล และอื่นๆ อีกมากมาย โดยการทุจริตจะทำเป็นเครือข่าย เรียกว่าเครือข่ายอิทธิพล ประกอบด้วย ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในกรม กระทรวง และเขตพื้นที่การศึกษา ลงมาถึงผู้อำนวยการโรงเรียน หากเป็นโครงการใหญ่ๆ จะมีนักการเมือง นักธุรกิจ พ่อค้า ผู้รับเหมาเข้ามาร่วมในวงจรเครือข่ายผู้มีอิทธิพลด้วย โดยเฉพาะเรื่องการก่อสร้าง ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินของผู้มีอำนาจ โดยมีการขอเปอร์เซ็นต์กันเฉลี่ยที่ 30% ผู้เกี่ยวข้องหลักในกระบวนการทุจริตในการก่อสร้างกลุ่มแรกคือผู้บริหารสถานศึกษาเพราะมีอำนาจในการกำหนดสเปคงาน พิจารณาอนุมัติงบประมาณก่อสร้างได้ โดยเฉพาะในโรงเรียนขนาดใหญ่ ผู้บริหารสถานศึกษาถือเป็นผู้มีอิทธิพล เพราะนั่งหลายเก้าอี้ มีเงินในมือ และเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่างๆ ได้
โดยเรื่องนี้ รศ.ดร.พรอัมรินทร์ พรหมเกิด อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ซึ่งได้ทำวิจัยเรื่อง “การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา กรณีศึกษา โรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขตที่ 24 , 25 ,26 (กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น ,มหาสารคาม)” โดยได้ทำการศึกษาในช่วงปี 2560-2561 ที่ผ่านมา เผยเพิ่มเติมว่า ตอนนี้สังคมไทยเดินทางมาถึงจุดที่ผู้มีอำนาจทุกระดับ ถ้าเขามีโอกาส เขาจะทุจริต เขาคิดเรื่องการทุจริตทุกลมหายใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้บริหารสถานศึกษาที่มาจากสายพระหรือเคยบวชเรียนมาก่อน เป็นเจ้าอาวาส เป็นเจ้าคณะอำเภอมาก่อน เพราะผู้มีอำนาจมองการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว
“เรื่องการทุจริตอาหารกลางวันเป็นตัวอย่างรายเล็กรายน้อยเท่านั้น เพราะรายใหญ่ๆ ไปอยู่ที่การก่อสร้าง การซื้อหนังสือ วัสดุ คุรุภัณฑ์มากกว่า รวมไปถึงเรื่องสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่มีอยู่ในทุกจังหวัด ยิ่งมีเงินเยอะยิ่งมีการทุจริตเยอะ ผู้จัดการสหกรณ์บางรายร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐี แถมยังเกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองจนกลายเป็นผู้มีอิทธิพลไปแล้ว โดยในส่วนการป้องกันกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันนั้น ต้องสนับสนุนกลไกเครือข่ายภาคประชาสังคม การสร้างกลไกแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของบุคลากรทางการศึกษา การป้องกันด้านกฎหมายและระเบียบต่างๆ เพื่อให้เรากล้าที่จะมองเรื่องการทุจริตเป็นความผิด อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องปกติ” รศ.ดร.พรอัมรินทร์ ระบุ.
Source :
1. http://www.komkhaotuathai.com/content/14448?qt&fbclid=IwAR3U_hFdU4asq7K7ZkniKeDWgmQPQjx-QXx9KFN7s1t36GYCTGqIYQse3Pk
2. เพจ : Moremove