ข้อสังเกตจากการตรวจผลงานทางวิชาการระดับชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ (ดร.บุญลือ ทองอยู่ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ)
ข้อสังเกตความก้าวหน้าในทางวิชาการ
การส่งผลงานทางวิชาการมีผู้ผ่านเป็นจำนวนมากขึ้น แต่เมื่อคิดเป็นร้อยละแล้วถือว่ายังผ่านน้อยอยู่มาก
ข้อสังเกตในการทำผลงานแล้วไม่ผ่านระดับ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ เชี่ยวชาญพิเศษ คือ เนื้อหาไม่ถูกต้องเป็นตัวสำคัญ จะทำวิจัย หรือ ประเมินเรื่องใด ก็จะมีเนื้อหาในเรื่องนั้นทั้งสิ้น หลักวิชาไม่แม่น ผลงานทางวิชาการต้องถูกหลักวิชาการ
องค์ประกอบที่ทำให้ผลงานวิชาการผ่าน
(รวบรวมจากการตรวจผลงานทางวิชาการ ทั้งสายครู ก.พ. และมหาวิทยาลัย ประมาณ 15 ปี รวมทั้งฟังจากการวิเคราะห์ วิจารณ์ของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ)
สอบถามจากคนที่ทำเชี่ยวชาญแล้วผ่านว่าทำอย่างไร (ประมาณ 30 คน ทุกสายงานวิชาชีพ)
1. ผู้ทำเป็นคนที่รักและศรัทธาในวิชาชีพของตน ภาคภูมิในในวิชาชีพ มีความรู้กฎหมายต่างๆเกี่ยวกับวิชาชีพของตน (สอบถามกฎหมาย หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ)
2. ใฝ่หาความรู้ อ่านหนังสือมาก อ่านด้วยความตั้งใจ (โดยเฉพาะวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย)
3. ทำจริง สอนจริง สอนด้วยความตั้งใจ มีเทคนิคในการออกข้อสอบ วัดผล ประเมินผล ตามกระบวนการที่ถูกต้อง
4. รวบรวมส่งขอผลงาน
การขอผลงานคือข้อที่ 4 เป็นข้อสุดท้าย แต่ถ้าหากเริ่มต้นด้วยการขอผลงานกระบวนการจะกลับกัน
การจะขอผลงานต้องมีกระบวนการพอสมควร บางท่านทำผลงานประเมินโครงการดีมาก วิชาการถูก ทุกอย่างถูกหมดเลย แต่กรรมการมีข้อสงสัยว่าโครงการดีๆ สามารถทำเสร็จภายในเวลาเดือนสองเดือนได้จริงหรือ ผลคือ ไม่ผ่าน ทุกท่านที่มาประชมในวันนี้ คือผู้ที่ตั้งใจจะพัฒนาวิชาชีพ
วิชาชีพ คือ วิชาการ + คุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณของตัวเอง
คนที่ทำผลงานวิชาการส่งแล้วไม่ผ่าน ถือว่าได้ส่งเสริมวิชาชีพแล้ว แต่คนที่ไม่ทำผลงาน ถือว่าทำลายวิชาชีพ มีอาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ส่งผลงานขอ รศ. เท่ากับ เชี่ยวชาญ ส่งปีที่ 9 จึงผ่านใน 8 ปีแรกขอทุกครั้ง ตกทุกครั้ง ท่านไม่ท้อถอยเพราะเป็นวิชาชีพของท่าน ท่านบอกว่าท่านมีหน้าที่ทำ ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจ เมื่อไม่ผ่านก็แนะนำมาเพื่อที่จะได้ปรับแก้ต่อไป ปัจจุบันก็ผ่านแล้ว บางท่านส่งผลงานครั้งเดียวไม่ผ่าน ก็เลิกทำแล้ว แต่การทำต้องตั้งใจและต้องศึกษาเกณฑ์ในการทำด้วย
นอกจาก 4 องค์ประกอบแล้ว ยังมีองค์ประกอบย่อย 2 ข้อที่ทำให้ผลงานทางวิชาการผ่าน
ข้อ 1 ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะตัวสำคัญคืออดทน ทำเรื่อยๆท้อแล้วก็กลับมาทำใหม่ ใฝ่รู้ มีเหตุผล เขียนไปแล้วก็ถามเพื่อน ถามผู้รู้ มีการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้รู้ก่อนที่จะส่งผลงาน บางคนฟังคนอื่นไม่ได้เลย ถามอะไร ใครบอกก็เถียง ต้องถามคนได้ ต้องฟังคนได้ อย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้ว ให้ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้ว เก็บความรู้ได้
ข้อ 2 ที่เขาสำเร็จเพราะเขาวางแผน วางแผน 3 แผน คือ
แผน 1 แผนการทำงานในหน้าที่ตามปกติ ต้องไม่ให้บกพร่อง ทำเต็มที่ ไม่เคยทิ้งห้องเรียน
แผน 2 แผนการทำผลงานทางวิชาการที่ชัดเจน กำหนดตัวเองว่าต้องเขียนวันละกี่หน้า ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ดร.บุญลือ เคยเขียนงานด่วนตามที่ ปลัดกระทรวงสั่งให้ทำให้เสร็จภายใน 6 วัน ในเวลา ตี 2 ถึง ตี 4 ทุกวัน ของดีต้องได้ยาก ของดีต้องลงทุน ของดีต้องต่อสู้
แผน 3 แผนชีวิต ต้องตั้งปณิธานไว้เลยว่า ชีวิตนี้ต้องได้เชี่ยวชาญ
สรุปแล้วถ้าจะทำผลงานทางวิชาการ จะต้องเขียนทุกวัน เขียนมากเขียนน้อยก็ต้องเขียน ต้องอ่านหนังสือทุกวัน เก็บเงินไว้ซื้อหนังสือ การอ้างหนังสือต้องอ้างเล่มใหม่ๆ ไม่เก่าเกินไป
งานวิชาการหมายความว่าอย่างไร
ในปัจจุบันพวกเรามักจะเขียนงานวิชาการตามใจตัวเอง ไม่ได้เขียนงานวิชาการตามใจคนตรวจ ต้องเขียนตามใจคนตรวจ คือ เขียนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คนตรวจเขาจะตรวจตามเกณฑ์
จะเปลี่ยนเกณฑ์เก่าเกณฑ์ใหม่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ แต่ในเรื่องของวิชาการไม่ได้เปลี่ยน
การขอผลงานเชี่ยวชาญ ต้องส่งผลงาน 2 รายการ ให้ส่งผลงาน 2 รายการพอ เพราะถ้าส่งหลายรายการต้องนำคะแนนมาเฉลี่ย งานวิจัยบังคับ และทำเรื่องอื่นๆอีกอย่างเดียว
การขอผลงานเชี่ยวชาญพิเศษ ต้องส่งผลงานวิจัยและพัฒนา เรื่องเดียวหรือสองเรื่อง อื่นๆอีกหนึ่งเรื่อง ต้องทำผลงานให้ดีพอๆกันทุกเรื่อง
งานสองเรื่อง Content (เนื้อหา) ต้องไม่ซ้ำกัน Methodology (ระเบียบวิธี) ต้องต่างกัน หลายๆคนทำ Content ต่างกันแต่ Methodologyซ้ำกัน ก็ไม่ผ่าน วรรณกรรมที่ค้นคว้ามาต้องต่างกัน
ความลึกซึ้งของงานวิจัยในแต่ละระดับต้องต่างกัน
ผลงานระดับชำนาญการพิเศษ งานวิจัยถามว่าอะไรดี What เช่น การศึกษาการมีส่วนร่วมของชุมชนที่มีต่อการจัดการศึกษา
ผลงานระดับเชี่ยวชาญ ต้อง What + Why เมื่อรู้ว่าอะไร และต้องถามต่อไปว่าทำไม เช่น ปัจจัยที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา
ผลงานระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ต้อง What + Why + How เช่น รูปแบบของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการศึกษา
สาเหตุที่ส่งผลงานเชี่ยวชาญแล้วไม่ผ่าน เพราะมีแค่ What ไม่มี Why ถ้าหากขณะนี้ใครกำลังจะส่งผลงานเชี่ยวชาญ หากมีแค่ What อย่างเดียว ไม่ต้องส่งไป แต่สามารถนำไปปรับได้
ผลงานทางวิชาการ ตามเกณฑ์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 50 คะแนน
1. ด้านคุณภาพของผลงานทางวิชาการ
1.1 ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ
1.2 ความถูกต้องตามหลักวิชาการ
1.3 ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
1.4 การพิมพ์และการจัดทำรูปเล่ม
มุมมองของกรรมการตรวจผลงานทางวิชาการ
1. ถูกต้องตามหลักวิชาการไหม ทุกคนต้องมั่นใจว่าที่เขียนลงไปนั้นต้องไม่ผิดแน่นอนถ้าไม่มั่นใจต้องวงกลมตัวแดงไว้แล้วไปค้น ตัวอย่างการเขียนทฤษฎี กระบวนการ ต้องให้ชัดเจน
เช่น ทฤษฎีการบริหารแบบ POSDCoRB ไม่ถูกต้อง POSDCoRBเป็นกระบวนการบริหาร (จากการศึกษาค้นคว้าในการทำวิทยานิพนธ์ ของ นายวรเกียรติ เครือประดับ POSDCoRB เป็น
Function ในการใช้ทั่วไป function (ฟังก์ชัน) คือ สิ่งที่ให้ สิ่งที่มีทำสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่ Process)
จะไปอ้างว่าอ้างอิงมาจากหนังสือที่คิดว่าถูกต้องแล้วไม่ได้ หนังสืออาจเขียนผิดก็ได้ การซื้อหนังสือต้องเลือกซื้อจากชื่อผู้เขียนที่เชื่อถือได้ ควรมีผู้เขียนเป็น รศ. หรือ ศ. ดร. จึงน่าเชื่อถือ
คนที่ประเมินโดยใช้ CIPP Model ปัจจุบันมีคนที่เขียนผิดแล้ววางขายอยู่ในท้องตลาด ถ้าอ้างไป ก็จะผิดทันที ถ้าจะทำประเมินให้ไปอ่านจากหนังสือของ ศ.ดร.สมหวัง จะซื้อหนังสือมาอ้างอิงต้องดูด้วยว่าผู้เขียนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงไหม P D C A ตัว A คืออะไร คือ Act ถ้าใช้
Action ไม่ถูกต้อง ในบางครั้งถ้าเราอ้างอิงคนที่ใช้คำว่า Action ถูกต้อง ในระดับเชี่ยวชาญผู้ตรวจอาจจะยอมให้ แต่ถ้าเป็นระดับเชี่ยวชาญพิเศษผู้ตรวจไม่ยอมแน่นอน และในระดับเชี่ยวชาญพิเศษ ควรอ่านและอ้างอิงจากตัวเล่มจริง ไม่ควรอ่านและอ้างอิงจากฉบับแปล
2. สมบูรณ์และพอเพียงไหม ชื่อเรื่อง คือตัวแปรตาม ต้องทำความรู้จัก ต้องศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างดี ความหมาย ความสำคัญ องค์ประกอบ การเกิด รูปแบบ ปัญหาอุปสรรค ต้องให้ครบ
สถิติพื้นฐาน เรื่องอะไรต้องเขียนให้ครบถ้วน
3. ต้องทันสมัย การตรวจผลงานทางวิชาการจะมีอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างน้อย 1 ใน 3 แน่นอน
ดร.บุญลือ จะตรวจผลงานภาคปฏิบัติก่อนแล้วจึงจะตรวจผลงานทางวิชาการ แต่อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะตรวจผลงานทางวิชาการก่อน บางคนจะตรวจบรรณานุกรมก่อน ถ้าพบบรรณานุกรมน้อยเล่ม หรือปี พ.ศ. เก่าเกินไป หนังสือทั่วไปที่ไม่ใช่ Classic ไม่ควรเกิน 10 ปี งานวิจัยอย่าให้เกิน 5 ปี ควรซื้อหนังสือที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เขียนควรเป็น รศ. หรือ ศ. ดร. ต้องอ้างอิงให้ถูกต้องด้วย และเนื้อหาควรทันสมัยเป็นปัจจุบัน เหมาะสมกับบริบทด้วย ตัวอย่าง พ.ร.บ. ต่างๆต้องอ้างให้เป็นปัจจุบัน
4. มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีสิ่งใหม่เกิดขึ้น เช่น ผลงานรวบรวมมาจากผู้อื่น ไม่มีของตนเองเลย เมื่อศึกษาจากงานผู้อื่น ต้องมาวิเคราะห์สังเคราะห์เขียนเป็นของเราเองด้วย คำว่าใหม่ไม่จำเป็นต้องใหม่ที่สุดในโลก แต่ใหม่จากความรู้และประสบการณ์ของเราเอง
5. ต้องถูกหลักภาษาไทยด้วย เวลาเขียนแล้ว คนอ่านต้องรู้เรื่อง เมื่อเขียนแล้วอาจลองให้เพื่อนอ่านแล้วถามว่ารู้เรื่องไหม พยายามเขียนจากเรื่องใหญ่ๆไปหาเรื่องย่อยๆ ตัวย่อพยายามหลีกเลี่ยง ถ้าไม่แน่ใจให้เขียนคำเต็มไปเลย
6. ต้องใช้คำศัพท์ในราชบัณฑิตเท่านั้น (ถ้ามี) เช่น ภาพคนหน้าห้องน้ำ เรียกว่า สัญรูป ไม่ใช่สัญลักษณ์
7. ต้องสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทย ในท้องถิ่นเรามีวัฒนธรรมใดก็เขียนลงไป
8. ต้องมีจรรยาบรรณ ถ้านำอะไรจากคนอื่นมาใช้ ต้องอ้างอิง อ้างอิงแบบไหนก็ได้ แต่ต้องเหมือนกันทั้งเล่ม เช่น นาม ปี หน้า จะนิยมใช้มากที่สุด การอ้างอิงจาก Net ต้องใช้น้อยที่สุด ความนำมาใช้จากคนที่มีความน่าเชื่อถือเท่านั้น และต้องบันทึก วัน เวลา ที่อ้าง รวมทั้งให้ถ่ายเป็นภาคผนวกด้วย
การตรวจสอบผลงานทางวิชาการ
1. อ่านความสำคัญ ดูว่าสำคัญจริงหรือไม่ ควรทำวิจัยหรือไม่
1.1 ดูกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญ พ.ร.บ. แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ นโยบาย การพิมพ์ชื่อคนไม่ควรผิดเลย
1.2 สถานการณจริงๆมีหรือไม่ มีทฤษฎี หรืองานวิจัย สนับสนุนหรือไม่
ต้องมีการศึกษาเขียนไว้ในบทที่ 2 การทำผลงานถ้าตั้งใจจริง ทำจริงด้วยตนเอง มักจะผ่านเสมอ อย่างน้อยก็ได้ปรับปรุง ถ้าผลงานเหมือนกันหลายๆคนก็จะตกทั้งหมด
2. วิธีเขียนบทที่ 2
ต้องดูว่าชื่อเรื่องมีอะไรบ้าง ต้องค้นคว้านำมาเขียนในบทที่ 2 ทั้งหมด
งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง หากท่านทำผลงานเรื่องการสร้างรูปแบบ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องก็คือเรื่องการสร้างรูปแบบ ต้องดูจากชื่อเรื่อง แล้วเลือกเอาเฉพาะที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ต้องอ่านจากต้นฉบับจริงเท่านั้น ห้ามอ้างถึงใน การอ่านงานวิจัยเพื่อเป็นพื้นฐานการทำงานในบทที่ 3 วิธีดำเนินงานวิจัยในบทที่ 3 ต้องได้มาจากแนวคิด หลักการ ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ในบทที่ 2
3. วิธีเขียน บทที่ 3
3.1 ต้องมาจากบทที่ 2 ทุกสิ่งที่นำมาใช้ต้องปรากฏอยู่ในบทที่ 2
3.2 การสร้างเครื่องมือ ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ เช่น แบบสอบถาม
3.2.1 Content Validity โดยการทำ IOC
3.2.2 หาอำนาจจำแนกรายข้อ
3.2.3 หาความเชื่อมั่น
หากเป็นแบบทดสอบต้องเพิ่ม
3.2.4 ค่าความยากง่ายรายข้อ
การหา Content Validity ของแบบสอบถามให้ใช้ IOC แต่แบบทดสอบควรใช้ตารางวิเคราะห์หลักสูตร
ถ้าทำวิจัยกับประชากร ไม่สามารถใช้ค่าสถิติเปรียบเทียบได้ เช่น T – test
ต้องมีการสุ่มตัวอย่างจึงจะสามารถใช้ได้
4. วิธีเขียน บทที่ 4
4.1 วิเคราะห์ไม่ครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ให้วิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ ดีที่สุด
4.2 ผลการวิเคราะห์ ตอบวัตถุประสงค์และสมมติฐานครบทุกข้อไหม
4.3 บทที่ 4 ให้วิเคราะห์ข้อมูลอย่างเดียว ไม่ต้องอภิปราย
5. วิธีเขียน บทที่ 5 สรุปผล อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
5.1 สรุปผล คือ ถ้าไม่มีเวลาอ่านงานวิจัยทั้งเล่ม อ่านบทที่ 5 ก็รู้เรื่อง
5.2 อภิปรายผล ต้องอภิปรายผลให้เข้ากับเรื่องที่ทำ นำผลที่ได้มาอภิปรายว่าที่ได้มาเพราะอะไร นำแนวคิด หลักการ ทฤษฎี จากบทที่ 2 มาสนับสนุน แล้วตามด้วยสอดคล้องกับงานวิจัยของใคร ต้องมีทั้ง 2 อย่างเสมอ และทั้ง 2 อย่างต้องปรากฏในบทที่ 2 ถ้าไปหามาเพิ่มใน บทที่ 5 ต้องเพิ่มในบทที่ 2 ด้วย จุดอ่อนก็คือ มีปรากฏในบทที่ 5 แต่ไม่มีในบทที่ 2 ข้อมูลต่างๆในงานวิจัยทุกบท ต้องเที่ยงตรงและสอดคล้องกัน การอภิปรายมีความสำคัญ จะทำให้เกิดความรู้ใหม่
5.3 ข้อเสนอแนะ ต้องเป็นผลจากงานวิจัยของเรา ไม่ใช่เสนอแนะตามใจตนเอง
ข้อเสนอแนะต้องได้จากสิ่งที่ค้นพบ
5.4 ข้อเสนอแนะทั่วไป ให้มี 2 ข้อ คือ ข้อเสนอแนะในการทำวิจัย และข้อเสนอแนะในการทำงานวิจัยครั้งต่อไป เป็นจรรยาบรรณว่า ผู้ทำวิจัยต้องมีข้อเสนอแนะเพื่อให้ผู้อื่นนำไปทำวิจัยต่อไป
6. วิธีเขียนบรรณานุกรม
6.1 ถ้ามีอ้างอิง ต้องมีบรรณานุกรม
6.2 เอกสารที่ได้ในการประชุมสัมมนา ถ้าไม่รู้ว่าใครเขียน ไม่ควรนำไปเขียนอ้างอิง
6.3 บางคนลงบรรณานุกรมภาษาอังกฤษมากเกินไป กรรมการไม่เชื่อ
ปัญหาใหญ่ก็คือ ผู้ทำวิจัย อ่านหนังสือน้อยเกินไป ควรอ่านหนังสือมากๆ ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากการอ่านหนังสือ
ขอบคุณที่มา
เพจ : มุ่งสู่ ครู ค.ศ. 4