สอนปรัชญาในโรงเรียนเริ่มอย่างไรดี?

0
745

เพิ่มเพื่อน

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม เพจ Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน ได้เผยแพร่ไอเดียการสอนปรัชญาในโรงเรียนที่เป็นเรื่องใกล้ตัว อยู่ในทุกชุดความคิดของเยาวชน คุณครูจะเริ่มสอนปรัชญาในห้องเรียนได้อย่างไร มีรายละเอียดดังนี้

สังคมที่เราอยู่ทุกวันนี้ ยุติธรรมหรือไม่ทำไมเราถึงเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ? ปรัชญาเป็นวิชาที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคนเพราะเริ่มจากการตั้งคำถาม เริ่มจากความสงสัยที่มีในตัวเรา

แต่วิธีการตั้งคำถามแบบไหนกันนะที่จะช่วยให้เราหาคำตอบอย่างเป็นระบบ (หรือบางทีอาจไม่ได้คำตอบ แต่เปิดประตูไปสู่คำถามใหม่ๆ ที่น่าคิด)โดยการหาหลักฐาน หรือเหตุผลสนับสนุนจุดยืนสร้างวัฒนธรรมการฟังและถกเถียงอย่างลึกซึ้งรวมถึงการตรวจสอบและเข้าใจจุดยืนของตนเองและผู้อื่นอยู่เสมอ

ตามแนวคิด Philosophy for Children (P4C) การสอนปรัชญาจะมุ่งพัฒนาให้เด็กเกิดทักษะการคิดในการร่วมกับการสนทนากับผู้อื่น ในลักษะเป็นชุมชนแห่งการสืบเสาะผ่านสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว ๆ ของเด็ก ซึ่งให้ความสำคัญกับ 4 ลักษณะการคิด ได้แก่

Collaborate thinking ร่วมกันคิด พูดคุยแชร์มุมมองกับผู้อื่น ตอบสนองความคิดของกันและกันหรือต่อยอดสิ่งที่คิดร่วมกัน

Caring thinking จิตนาการถึงความรู้ของเพื่อนที่กำลังร่วมคิดกับเราว่าเขาคิดหรือรู้สึกอย่างไร รวมถึงสิ่งที่ตัวเราได้พูดไปและเรียนรู้ที่จะฟังอย่างตั้งใจ
และไม่ขัดจังหวะเมื่อเพื่อนพูด

Critical thinking ใช้ให้เหตุผล มองหาหลักฐานและประเมินคำตอบที่เกิดขึ้นจากการถกเถียง รวมถึงตรวจสอบความคิดของเรา

Creative thinking คิดสิ่งใหม่ สำรวจทางเลือกหรือความเป็นไปได้ใหม่ หรือเชื่อมโยงความคิดระหว่างกัน

4 ลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดการสร้างสมดุลทางอารมณ์ ความรูสึก และความรู้ และให้เด็กๆได้ตรวจสอบความคิดความรู้สึกของตัวเองหรือบางครั้งกล้ายอมรับว่าเราคิดผิดก็ได้

ตัวอย่างประเด็นคำถาม
1.เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าตอนนี้เราไม่ได้ฝันอยู่
2.หากนี้คือพระเจ้า แล้วใครกันที่สร้างพระเจ้า
3.ในสังคมที่เราอยู่ มันยุติธรรมไหม
4.ผู้คนเรียนรู้จากความผิดพลาดใช่ไหม
5.เรามีสิทธิที่จะขโมยอาหารประทังชีวิตไหม
6.คนเราสามารถอยู่ที่บ้านและโรงเรียน
ในเวลาเดียวกันได้ไหม
7.กระต่ายมีหูสั้นหรือไม่
8.เราควรให้อภัยผู้อื่นหรือไม่
9.เราสามารถติดไวรัสได้ไหม ถ้าไม่ได้ออจากบ้าน
10.เราควรทำในสิ่งที่ถูกต้อง หรือทำตามกฎ
11.ชีวิตมนุษย์มีค่ามากกว่าหนูจริงไหม
12.อะไรทำให้เป็นช้อน ขนาดหรือรูปร่าง
ถ้าวันนึงช้อนใหญ่ขึ้น จะยังเป็นช้อนอยู่หรือเปล่า
13.สัตว์มองเห็นโลก
แบบเดียวกับที่มนุษย์มองเห็นหรือไม่

แนวทางการสอนเบื้องต้น

1.เปิดประเด็นด้วยคำถามทางปรัชญา (จากครูหรือนักเรียน)
2.สร้างการแลกเปลี่ยน/ นำเสนอความคิดระหว่างกัน (ครูกระตุ้นคำถามในหลายแง่มุมม)
3.สร้างความคิดหรือข้อสรุปร่วมกัน
4.สะท้อนความคิดและความรู้สึกที่เกิด

บทบาทที่ครูทำได้

1.สร้างบรรยากาศที่พูดคุยได้อย่างปลอดภัย โดยการส่งเสริมให้เด็กคิดด้วยตนเองร่วมกับเพื่อนในชั้นเรียน

2.ใช้ประเด็นปรัชญาจากเนื้อเรื่อง วรรณกรรม ภาพยนตร์ หรือใช้ประเด็นปัญหาที่อยู่ในชีวิตประจำวันเข้ามาสร้างข้อถกเถียง ช่วยให้เด็กๆ เชื่อมโยงปรัชญาเข้ากับชีวิตได้

3.สร้างให้ห้องเรียนเป็นชุมชนแสวงหาคำตอบ โดยที่ครูเป็นคนคอยถามกระตุ้น ครูและนักเรียนจะช่วยร่วมกันสืบค้น รับฟังความคิด หรือท้าทายความคิดระหว่างกันให้มีเหตุผล

4.ควรชวนนักเรียนสำรวจคำตอบ จุดยืน ความคิดของตนเองหลังการแลกเปลี่ยน เช่น สุดท้ายเขาได้ข้อสรุปอย่างไร ยังเห็นด้วยเหมือนเดิมหรือไม่ เพราะอะไร

ตัวอย่างเครื่องมือในการใช้สอนปรัชญา

คำถามอาจมาในรูปแบบ ภาพ ภาพยนตร์ นิยาย หรือประเด็นในสังคมก็ได้ อะไรก็ตามที่เรา “เกิดข้อสงสัยและอยากตั้งคำถาม” กับสิ่งนั้น เช่น ภาพนี้ “เด็กๆ คิดว่าเราเห็นตัวเองในแบบที่เราเป็นจริงๆ ไหม?” อะไรคือ “ตัวเรา” อะไรถึงจะเรียกว่า “แท้จริง” แล้ว “ตัวเราที่แท้จริง” คืออะไร มีจริงหรือไม่?

ตัวอย่างเครื่องมือในการใช้สอนปรัชญา: แผนภาพ

ใช้แผนภาพในการเสนอความคิด เหตุผล หาจุดร่วม จุดต่างเพื่อฝึกตรรกะการหาและให้เหตุผล

ปรัชญาอยู่ในสิ่งรอบตัว

ไม่ว่าครูจะสอนวิชาอะไรก็เอาทักษะการตั้งคำถามเชิงปรัชญาเข้าไปใช้กระตุ้นการเรียนรู้ได้นะ!

อาจเริ่มจาก “ทำไมเราต้องเรียน” ก็ได้นะ (?)

คุณครูคนไหนลองเอาปรัชญาไปจับกับวิชาไหนบ้าง บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง ได้ข้อสังเกตอะไรเพิ่ม มาเขียนไอเดียแบ่งปันคาบเรียนตั้งคำถาม ได้เลยที่: inskru.com/create ไอเดียที่ครูเขียน นำมารวมเป็นผลงาน ที่โปรไฟล์ของครูบนเว็บ inskru ได้ด้วยนะ!

ขอบคุณที่มา: เพจ Inskru -พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอน

Comments

comments

- Advertisement -