ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ออกแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ที่ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับศธ.ถือปฏิบัติ โดยกรณีได้เรียกเก็บไปแล้ว ให้คืนในส่วนที่ไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
สำหรับแนวปฏิบัติการเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น ที่ให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาในสังกัดหรือในกำกับของ ศธ. ถือปฏิบัติ มีดังนี้
1. ในกรณีที่ได้มีการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าธรรมเนียม การเรียน และค่าธรรมเนียมอื่นไปแล้ว ให้คืนเงินบำรุงการศึกษาหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าว ในส่วนที่ไม่ได้ จัดกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นในระหว่างที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
2. ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา ค่าธรรมเนียมการศึกษาค่าธรรมเนียมการเรียน และค่าธรรมเนียมอื่น เพื่อใช้จ่ายในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน อาจพิจารณาผ่อนผันหรือขยายระยะเวลาการเรียกเก็บเงินบำรุงการศึกษา หรือ ค่าธรรมเนียมดังกล่าวตามความเหมาะสมเป็นกรณีไป
3. พิจารณาให้ความช่วยเหลือในกรณีที่ผู้ปกครองของนักเรียน นักศึกษา ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวตามความจำเป็นเหมาะสม
4.ให้หน่วยงานต้นสังกัดหรือที่กำกับโรงเรียนหรือสถานศึกษา แจ้งเวียนไปยังสถานศึกษาในสังกัด หรือ ในกำกับให้ปฏิบัติตามประกาศนี้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ที่ผ่านมา รมว.ศธ.นำทีมเข้าหารือ รมว.กระทรวงการคลังถึงแนวทางการพิจารณาช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนในวิกฤต COVID-19 ดร.อรรถพล ตรึกตรอง กล่าวว่า ตนได้นำเสนอถึงปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงินของโรงเรียนเอกชนทั้งในระบบและนอกระบบ ตลอดทั้งข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งทุนดอกเบี้ยต่ำของโรงเรียนเอกชนให้ที่ประชุมรับทราบ โดยทางด้าน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.กค.) ได้เห็นชอบในหลักการให้โรงเรียนเอกชนที่เก็บเงินค่าธรรมเนียมการศึกษา/ค่าธรรมเนียมอื่น ได้แก่ โรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุน 70% โรงเรียนเอกชนที่ไม่รับเงินอุดหนุนทั้งประเภทสามัญ โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทวิชาชีพ โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนเอกชนนอกระบบประเภทสร้างเสริมทักษะชีวิต สามารถเข้าสู่มาตรการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และมอบหมายให้ทาง สช. ไปหารือในรายละเอียดกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย ตลอดจนสำรวจความต้องการสินเชื่อดังกล่าว โดยหากโรงเรียนใด หรือท่านใดที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง https://www.bot.or.th/covid19/content/sme/Pages/fin-rehab.aspx
ติดตามข้อมูลข่าสาวรเพิ่มเติมได้ที่ :::กระทรวงศึกษาธิการ::: (moe.go.th) เเละ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ