แนวทางการขอเปิดห้องเรียนพิเศษต่างๆ

0
1619

เพิ่มเพื่อน

แนวทางและหลักเกณฑ์การเปิดห้องเรียนพิเศษ โดยสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา

1. สถานศึกษาต้องมีความพร้อมทางด้านบุคลากร นักเรียน การระดมทรัพยากร แผนการจัดการเรียนการสอน อาคารสถานที่ และด้านบริหารจัดการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อส่งเสริมศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ โดยกําหนดวิธีการรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษให้สอดคล้องกับนโยบายการรับนักเรียนของสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2. สถานศึกษาที่เปิดห้องเรียนพิเศษ ต้องเป็นไปตามความต้องการของผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพิจารณาการขอเปิดห้องเรียนพิเศษของ

สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาตามคําสั่งของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้งนี้ให้ขอเปิดในชั้นแรกของแต่ละระดับเช่น ชั้นอนุบาล 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น

3. สถานศึกษาที่ขอเปิดห้องเรียนพิเศษ ต้องมีค่าเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O – NET)กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ได้แก่ภาษาไทยคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ในระดับชั้นที่เปิดสอนสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลัง และหากเป็นการเปิดห้องเรียนพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์ และด้านภาษา ต้องมีค่าเฉลี่ยผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O – NET) เฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ๆ สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลังด้วย เช่น การขอเปิดห้องเรียนพิเศษ EP ชั้นอนุบาล 1 หรือชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 สถานศึกษาจะต้อง มีผลคะแนน O – NET ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 5 กลุ่มสาระหลัก สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลัง และจะต้องมีผลคะแนน O – NETชั้นประถมศึกษาปีที่6 ภาษาอังกฤษสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลัง การขอเปิดห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สถานศึกษาจะต้องมีผลคะแนน O – NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 5 กลุ่มสาระหลักสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลัง และจะต้องมีผลคะแนน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 วิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลังและจะต้องมีผลคะแนน O – NETชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 คณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ 3 ปีย้อนหลังการขอเปิดห้องเรียนพิเศษกีฬา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 สถานศึกษาจะต้องมีผลคะแนน O – NET ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 5 กลุ่มสาระหลัก สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ เป็นต้น

4. สถานศึกษาที่ต้องการเปิดห้องเรียนพิเศษ ต้องเสนอขอความเห็นชอบต่อสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา โดยคณะกรรมการพิจารณาการขอเปิดห้องเรียนพิเศษของสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ภายในเดือนพฤษภาคม ของปีการศึกษาก่อนหน้าปีการศึกษาที่ต้องการเปิดห้องเรียนพิเศษนั้น

5. สถานศึกษาที่ได้รับความเห็นชอบและอนุมัติให้เปิดห้องเรียนพิเศษ ให้ดําเนินการภายใน 1 ปีการศึกษา หากไม่ดําเนินการภายในเวลาที่กําหนด ให้ถือว่าโครงการนั้นสิ้นสุด

6. สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษ หากมีความประสงค์จะเลิกดําเนินการต้องแจ้งผู้ปกครองนักเรียนทราบล่วงหน้า และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วเสนอสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาทราบ

7. สถานศึกษาที่แจ้งยกเลิกการดําเนินการห้องเรียนพิเศษไปแล้ว หากมีความประสงค์จะขอเปิดห้องเรียนพิเศษ ให้ดําเนินการขอเปิดห้องเรียนพิเศษใหม่

8. สถานศึกษาที่จัดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษ ควรให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานดําเนินการตรวจสอบและทบทวนการดําเนินงานของสถานศึกษาทั้งระบบโดยมุ่งเน้นคุณภาพของผู้เรียนทั้งคุณลักษณะที่พึงประสงค์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และจัดทําเป็นรายงานประจําปีเสนอต่อสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ขั้นตอนการดําเนินการเปิดห้องเรียนพิเศษ ระดับสถานศึกษา

1. เตรียมความพร้อมทางด้านหลักสูตร บุคลากรอาคารสถานที่แหล่งเรียนรู้และสื่อการเรียนการสอนในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษในด้านวิชาการและด้านอื่น ๆ โดยกําหนดการรับนักเรียนห้องเรียนพิเศษให้สอดคล้องกับนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัดสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2. สํารวจข้อมูลความต้องการในการเปิดห้องเรียนพิเศษของนักเรียน ครูผู้ปกครอง ชุมชน และ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

3.จัดทําข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลความพร้อมในการขอเปิดห้องเรียนพิเศษต่อนักเรียน ครูผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษา

4. นําเสนอข้อมูล เหตุผล และความจําเป็นในการเปิดห้องเรียนพิเศษ และขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของสถานศึกษา

5. เสนอเรื่องการขอเปิดห้องเรียนพิเศษไปยังสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา พร้อมเอกสารประกอบ เช่น แบบสํารวจข้อมูลการขอเปิดห้องเรียนพิเศษ ตารางวิเคราะห์ข้อมูลความพร้อม สําเนาค่าเฉลี่ยผลการทดสอบ ทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O – NET) กลุ่มสาระการเรียนรู้หลัก 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ได้แก่ ภาษาไทยคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ในระดับชั้นที่ขอเปิดสอน 3 ปีย้อนหลังและ หากเป็นการเปิดห้องเรียนพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และด้านภาษา ต้องมีค่าเฉลี่ยผลการทดสอบ ทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O – NET) เฉพาะกลุ่มสาระการเรียนรู้นั้น ๆ 3 ปีย้อนหลังด้วย โครงสร้าง หลักสูตรโครงการ ภาพถ่ายห้องเรียน ห้องปฏิบัติการอาคารสถานที่สําเนารายงานการประชุมและความเห็นชอบ ของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พร้อมผลสํารวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง เป็นต้น ภายในเดือน พฤษภาคมของปีการศึกษาก่อนหน้าปีการศึกษาที่ขอเปิดห้องเรียนพิเศษนั้น ทั้งนี้จะกล่าวอ้างเหตุผลที่ขอเปิดห้องเรียนพิเศษแต่ระยะเวลาไม่เป็นไปตามที่กําหนดไว้ไม่ได้

6. ประกาศผลการขอเปิดห้องเรียนพิเศษให้นักเรียน ครูผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องของสถานศึกษาทราบ

7. สถานศึกษากําหนดผู้รับผิดชอบห้องเรียนพิเศษ

8. กําหนดแผนปฏิบัติการดําเนินงานในการเปิดห้องเรียนพิเศษ

9. รายงานผลการดําเนินงานการจัดการเรียนการสอนห้องเรียนพิเศษ เมื่อสิ้นปีการศึกษาต่อสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลดแนวทางการขอเปิดห้องเรียนพิเศษฉบับเต็ม

ที่มา : สพฐ

Comments

comments

- Advertisement -