อ่านไว้เป็นข้อคิด! พระบรมราโชวาทด้านการศึกษา ของในหลวงรัชกาลที่ 9

1
4114

ขออัญเชิญ พระบรมราโชวาท ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านเคยทรงพระราชดำรัสไว้ในงานเกี่ยวกับการศึกษาต่างๆ อาทิ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ทุกๆ พระบรมราโชวาทล้วนเป็นถ้อยคำที่พระองค์ท่านทรงแนะนำ สั่งสอน ให้ทุกๆ ได้รู้จักหน้าที่ของตนเอง เผื่อใครกำลังท้อแท้เกี่ยวกับเรื่องเรียน มาอ่านไว้เป็นข้อคิด เตือนสติ เป็นหลักในการดำเนินชีวิตกันได้

พระบรมราโชวาท เกี่ยวกับการเรียน
1.“ประเพณีทั้งหลายย่อมมีประโยชน์ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน เรามีประเพณีของชาติไทยเป็นสมบัติ เราควรจะยินดีอย่างยิ่งและช่วยกันส่งเสริมรักษาไว้ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๑ เมษายน ๒๕๐๓

2.“ความเจริญของประเทศชาติ เป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคน ทั้งชาติ ถือได้ว่าทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และเกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติได้โดยลำพังตนเอง”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๑๓

3.“การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๐๖

4.“คนไม่มีความสุจริต คนไม่มีความมั่นคง ชอบแต่มักง่าย ไม่มีวันจะสร้างสรรค์ประโยชน์ส่วนรวมที่สำคัญอันใดได้ ผู้ที่มีความสุจริตและความมุ่งมั่นเท่านั้น จึงจะทำงานสำคัญยิ่งใหญ่ที่เป็นคุณประโยชน์แท้จริงได้สำเร็จ”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๒๒

5.“การจะพัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างให้เจริญนั้น จะต้องสร้างและเสริมขึ้นจากพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนทั้งสิ้น ถ้าพื้นฐานไม่ดีหรือคลอนแคลนบกพร่องแล้ว ที่จะเพิ่มเติมเสริมต่อให้เจริญขึ้นไปอีกนั้น ยากนักที่จะทำได้ จึงควรจะเข้าใจให้แจ้งชัดว่า นอกจากจะมุ่งสร้างความเจริญแล้ว ยังต้องพยายามรักษาพื้นฐานให้มั่นคง ไม่บกพร่อง พร้อมๆกันได้”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๒๓

6.“หลักของคุณธรรม คือการคิดด้วยจิตใจที่เป็นกลาง ก่อนจะพูดจะทำสิ่งไร จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อน เพื่อรวบรวมสติให้ตั้งมั่น และให้จิตสว่างแจ่มใส ซึ่งเมื่อฝึกหัดจนคุ้นเคยชำนาญแล้ว จะกระทำได้คล่องแคล่ว ช่วยให้สามารถแสดงความรู้ ความคิด ในเรื่องต่าง ๆ ให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ได้ชัด ไม่ผิดทั้งหลักวิชาทั้งหลักคุณธรรม”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕

7.“ความจริงใจต่อผู้อื่นเป็นคุณธรรมสำคัญมาก สำหรับผู้ที่ต้องการความสำเร็จและความเจริญ เพราะช่วยให้สามารถขจัดปัดเป่าปัญหาได้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาอันเกิดจากความกินแหนงแคลงใจ และเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และความร่วมมือสนับสนุนจากทุกคนทุกฝ่าย ที่ถือมั่นในเหตุผลและความดี ผู้มีความจริงใจจะทำการสิ่งใดก็มักสำเร็จได้โดยราบรื่น”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๕

8.“การศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมเป็นการศึกษาที่สำคัญ และควรจะดำเนินควบคู่กันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เพราะความเจริญของบุคคล ตลอดจนถึงความเจริญของประเทศและของโลกโดยส่วนรวมด้วยนั้น มีทั้งทางวัตถุและจิตใจ ความเจริญทั้งสองทางนี้ จะต้องมีประกอบกัน เกื้อกูลและส่งเสริมกันพร้อมมูล จึงจะเกิดความเจริญที่แท้จริงได้ ประเทศทั้งหลายจึงต่างพยายามส่งเสริมการศึกษาด้านศิลปะวัฒนธรรมนี้ พร้อมกันไปกับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๕

9.“งานทุกอย่างมีบุคคลซึ่งมีชีวิตจิตใจ มีความนึกคิดเป็นผู้กระทำ ถ้าผู้ทำมีจิตใจไม่พร้อมจะทำงานเช่น ไม่ศรัทธาในงาน ไม่สนใจผูกพันกับงาน ผลงานที่ทำก็ย่อมบกพร่อง ไม่คงที่ ต่อเมื่อผู้ปฏิบัติมีศรัทธา เข้าใจซึ้งถึงประโยชน์ของงาน พร้อมใจและพอใจที่จะขวนขวายปฏิบัติงานโดยเต็มกำลังความสามารถ งานจึงจะดำเนินไปได้โดยราบรื่น และบรรลุผลตามที่มุ่งหมาย”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๓๖

10.“ความคิดนั้นสำคัญมาก ถือได้ว่าเป็นแม่บทใหญ่ของคำพูดและการกระทำทั้งปวง กล่าวคือ ถ้าคนเราคิดดี คิดถูกต้อง ทั้งตามหลักวิชาและคุณธรรม คำพูดและการกระทำก็เป็นไปในทางที่ดีที่เจริญ แต่ถ้าคิดไม่ดีไม่ถูกต้องคำพูด และการกระทำก็อาจก่อความเสียหาย ทั้งแก่ตัวเองและส่วนรวมได้ ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่บุคคลจะพูดจะทำสิ่งใด จำเป็นต้องหยุดคิดเสียก่อนว่า กิจที่จะทำ คำที่จะพูด ผิดหรือถูก เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเสียหาย เป็นสิ่งที่ควรพูด ควรกระทำ หรือควรงดเว้น เมื่อคิดพิจารณาได้ดังนี้ ก็จะสามารถยับยั้งคำพูดที่สมควรหยุดยั้ง การกระทำที่ไม่ถูกต้อง พูดและทำแต่สิ่งที่จะสัมฤทธิ์ผลเป็นคุณ เป็นประโยชน์ และเป็นความเจริญ”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๙ กรกฎาคม ๒๕๔๐

11.“ความคิดนั้นเป็นแม่บทใหญ่ของการพูดและการกระทำ เพราะกิจที่จะทำคำที่จะพูดทุกอย่างล้วนสำเร็จมาจากความคิด การคิดก่อนพูดและก่อนทำจึงช่วยให้บุคคลสามารถยับยั้งคำพูดที่ไม่สมควร หยุดยั้งการกระทำที่ไม่ถูกต้อง”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐

12.“ผู้หนักแน่นในสัจจะ พูดอย่างไรทำอย่างนั้น จึงจะได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธา เชื่อถือ และความยกย่องสรรเสริญจากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือพูดจริงทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๐

13.“การรู้จักประมาณตน ได้แก่ การรู้จักและยอมรับว่าตนเองมีภูมิปัญญาและความสามารถด้านไหน เพียงใด และควรจะทำงานด้านไหน อย่างไร การรู้จักประมาณตนนี้ จะทำให้คนเรารู้จักใช้ความรู้ความสามารถที่มีอยู่ได้ถูกต้องเหมาะสมกับงาน และได้ประโยชน์สูงสุดเต็มตามประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้รู้จักขวนขวายศึกษาหาความรู้ และเพิ่มพูนประสบการณ์อยู่เสมอ เพื่อปรับปรุงส่งเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในตนเองให้ยิ่งสูงขึ้น”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๑

14.“การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบใหญ่ขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้พร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติสืบไป”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

15.“งานด้านการศึกษาเป็นงานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชาตินั้น ขึ้นอยู่กับการศึกษาของพลเมืองเป็นข้อใหญ่ ตามข้อเท็จจริงที่ทราบกันดีแล้ว ระยะนี้บ้านเมืองของเรามีพลเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งมีสัญญาณบางอย่างเกิดขึ้นด้วยว่า พลเมืองของเราบางส่วนเสื่อมทรามลงไปในความประพฤติและจิตใจ ซึ่งเป็นอาการที่น่าวิตก ว่า ถ้าหากยังคงเป็นอยู่ต่อไป เราอาจเอาตัวไม่รอด ปรากฏการณ์เช่นนี้ นอกจากเหตุอื่นแล้ว ต้องมีเหตุมาจากการศึกษาด้วยอย่างแน่นอน จึงพูดได้เต็มปากแล้วว่า เราจะต้องจัดงานด้านการศึกษาให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น… ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๒

16. “การให้การศึกษาอีกขั้นหนึ่ง คือ การสอนและการฝึกฝนให้เรียนรู้วิทยาการที่ก้าวหน้าขึ้นไป พร้อมทั้งการฝึกฝนให้รู้จักใช้เหตุผล สติปัญญา และหาหลักการชีวิต เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ความเจริญงอกงาม ทั้งทางกายและทางความคิด ผู้ทำงานด้านการศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษ และได้รับความยกย่องเป็นอย่างสูงตลอดมา ในฐานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตจิตใจตลอดจนความเจริญทุกอย่างแก่อนุชน…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๔

17. “การให้การศึกษานั้น กล่าวโดยจุดประสงค์ที่แท้จริง คือการสร้างสรรค์ความรู้ ความคิด พร้อมทั้งคุณสมบัติและจิตใจที่สมบูรณ์ให้เกิดขึ้นในตัวบุคคล เพื่อช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและราบรื่น ทั้งสามารถบำเพ็ญประโยชน์สุขเพื่อตน เพื่อส่วนรวมได้ตามควรแก่อัตภาพ ผู้ทำหน้าที่ด้านการศึกษาทุกฝ่ายทุกระดับ ควรจะได้มุ่งทำงานเพื่อวัตถุประสงค์นี้ยิ่งกว่าสิ่งใด…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

18.“การให้การศึกษาที่ดีนั้น เป็นงานที่ละเอียดลึกซึ้งมาก จำเป็นต้องใช้ความรอบรู้อันกว้างขวาง ใช้ความสุขุมรอบคอบ ประกอบด้วยความตั้งใจและความเพียรพยายามอย่างแรงกล้า จึงจะทำได้สำเร็จ…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

19.“การให้การศึกษานั้น คือ การแนะนำส่งเสริมบุคคล ให้มีความเจริญงอกงามในการเรียนรู้ การคิดอ่าน การกระทำตามอัตภาพของตนโดยมีจุดมุ่งหมาย ในที่สุดให้สามารถนำเอาคุณสมบัติทั้งปวงที่มีในตัวออกมาใช้ ให้เป็นประโยชน์เกื้อกูลตนเกื้อกูลผู้อื่นได้ โดยสอดคล้องไม่ขัดแย้งเบียดเบียนกัน เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันเป็นสังคมเป็นประเทศได้…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

20.“การให้การศึกษาถือว่าเป็นการให้สิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นการหล่อหลอมวางรูปแบบให้แก่อนุชน ทั้งทางความรู้ความสามารถ ทั้งทางจิตวิญญาณ ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาทุกตำแหน่งหน้าที่ จึงมีความรับผิดชอบอย่างยิ่งต่อชาติบ้านเมือง ในการสร้างพลเมืองที่ดี…”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๒๐

21. “การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือ รู้แล้วสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรกเมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรจะศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่มุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะแต่เพียงบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๓

22. “การศึกษานั้น ไม่ว่าจะศึกษาเพื่อตนหรือจะให้แก่ผู้อื่น สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้ตรงตามวัตถุประสงค์ จึงจะได้ผลเป็นคุณเป็นประโยชน์ มิฉะนั้นจะต้องมีการผิดพลาดเสียหายเกิดขึ้น ทำให้เสียเวลาและเสียประโยชน์ไปเปล่า ๆ วัตถุประสงค์ของการศึกษานั้นคืออย่างไร กล่าวโดยความคิดรวบยอด ก็คือการทำให้บุคคลมีปัจจัยหรือมีอุปกรณ์สำหรับชีวิตอย่างครบถ้วนเพียงพอทั้งในส่วนวิชาความรู้ ส่วนความคิดวินิจฉัย ส่วนจิตใจและคุณธรรมความประพฤติ ส่วนความขยันอดทน และความสามารถในอันที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานของตนเองให้ได้จริง ๆ เพื่อสามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยความสุขความเจริญมั่นคง และสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมและบ้านเมืองได้ตามควรแก่ฐานะด้วย”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๒๓

ขอบคุณภาพจาก:: www.cola.kku.ac.th

23. “วัตถุประสงค์สำคัญของการให้การศึกษานั้น คือการฝึกฝนอบรมให้บุคคลมีปัจจัยหรืออุปกรณ์สำหรับชีวิต อย่างครบครันเพียงพอ ทั้งในส่วนวิชาความรู้ ส่วนความคิดวินิจฉัย ส่วนจิตใจและความประพฤติ ส่วนความขยันอดทนและความสามารถ ในอันที่จะนำความรู้ความคิดไปใช้ปฏิบัติงานด้วยตนเอง เพื่อประโยชน์แห่งการสร้างความสุขความเจริญและความมั่นคงในชีวิต”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๒๓

24.“การศึกษาด้านวิชาการ ได้แก่ การขวนขวายเปิดตาเปิดใจที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งโดยทางกว้างและทางลึก รู้แล้วก็นำมาคิดพิจารณาให้ได้ประเด็น ให้เห็นส่วนที่เป็นเหตุส่วนที่เป็นผล ให้เห็นลำดับความเกาะเกี่ยวต่อเนื่องของเหตุและผลนั้นตลอดจนถึงผลสรุป ให้เข้าใจโดยแจ่มแจ้งแน่ชัด เพื่อให้กำหนดจดจำ ทั้งโดยหลักทฤษฎี ทั้งโดยเนื้อความที่เป็นมา แล้วนำไปสั่งสอนหรือนำไปเทียบเคียงใช้ในการงาน ในการแก้ปัญหาชีวิตต่อไป”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓

25.“การศึกษาที่มุ่งทำเพื่อส่งเสริมบุคคลให้มีความรู้ความสามารถ สร้างหลักฐานความมั่นคงในชีวิต และทำประโยชน์แก่ส่วนรวมได้นั้น ต้องจัดอบรมให้ได้พร้อมทั้งด้านวิชาการ ด้านการลงมือปฏิบัติ ด้านความคิดวินิจฉัยและความประพฤติปฏิบัติ

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๒๓

26.“การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างและพัฒนาความรู้ ความคิด ความประพฤติ และคุณธรรมของบุคคลสังคมและบ้านเมืองใดให้การศึกษาที่ดีแก่เยาวชนได้อย่างครบถ้วน ล้วนพอเหมาะกันทุกๆ ด้าน สังคมและบ้านเมืองนั้นก็จะมีพลเมืองมั่นคงของประเทศชาติไว้ และพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปได้โดยตลอด”

พระบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล ๒๕๒๔

27.“ความรู้นั้นสำคัญยิ่งใหญ่ เพราะเป็นปัจจัยให้เกิดความฉลาดสามารถและความเจริญก้าวหน้า มนุษย์จึงใฝ่ศึกษากันอย่างไม่รู้จบสิ้น…การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด “ความฉลาดรู้” คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้มีข้อปฏิบัติที่น่าจะยึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรกเมื่อจะศึกษาสิ่งใดเรื่องใดให้รู้จริง ควรศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน …อีกประการหนึ่งซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณาศึกษาเรื่องนั้น ๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

ภาพประทับใจ และสมเด็จพระเทพฯ ในวันรับปริญญา

28. “ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้น มีอยู่สามลักษณะ ได้แก่ เรียนรู้ตามความรู้ ความคิด ของผู้อื่นอย่างหนึ่ง เรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนจนประจักษ์ผล และเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง การเรียนรู้ทั้งสามลักษณะนี้ จำเป็นจะต้องกระทำไปด้วยกัน ให้สอดคล้องแลอุดหนุนส่งเสริมกัน จึงจะช่วยให้เกิดความรู้จริง พร้อมทั้งความสามารถที่จะนำมาใช้ทำการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพได้ กล่าวคือ การเรียนรู้ทุกอย่างนั้น จะต้องเรียนตามความรู้ของผู้อื่นก่อนเป็นเบื้องต้น เมื่อรู้แล้วจึงนำมาพิจารณาให้เห็นแจ่มชัดละเอียดลงไปอีกชั้นหนึ่ง ให้ถึงเนื้อหาสาระ อันจะอ้างอิงอาศัยเป็นหลักฐานได้ มิให้เป็นการเรียนรู้อย่างเลื่อนลอย แต่เมื่อถึงขั้นที่สองนี้แล้ว ก็ยังถือว่าจะนำมาใช้การได้ให้ได้ผลแน่นอนจริง ๆ ไม่ได้ ยังจำเป็นต้องนำความรู้นั้นมาปฏิบัติฝึกฝนอีกให้เกิดผลประจักษ์แจ้ง และเกิดความคล่องแคล่ว ชำนิชำนาญขึ้นพร้อมกันไปด้วย จึงจะนำไปใช้ปฏิบัติให้สำเร็จผลได้ไม่ขัดข้อง”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔

29.“การศึกษาเพิ่มเติมที่แต่ละคนพึงกระทำนั้น กล่าวได้ว่ามีอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือศึกษาค้นคว้าจากตำรับตำรา และวิเคราะห์วิจัยตามระบบและวิธีการ ที่ปฏิบัติกันในมหาวิทยาลัย อีกทางหนึ่งคือสดับตรับฟัง สังเกต จดจำจากการกระทำคำพูดของบุคคล รวมทั้งเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ประสบผ่าน แม้แต่อุปสรรคความผิด พลาดของตนเอง ก็อาจนำมาคิดพิจารณาให้เป็นบทเรียนที่ทำให้เกิดความรู้ ความคิด ความฉลาด ได้ทั้งสิ้น”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๕

30.“พระบรมราโชวาทด้านความเป็นครู “ในฐานะที่ต้องออกไปทำหน้าที่เป็นครูของผู้อื่น ท่านจำจะต้องสร้างสมธรรมะต่าง ๆ ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และรู้จักวางตัวให้สมกับเป็นผู้มีหน้าที่สั่งสอนและอบรมเยาวชน ควรจะตั้งใจปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความ สามารถและช่วยกันขจัดปัญหาเยาวชนให้หมดสิ้นไปโดยเร็ว และส่งเสริมให้เยาวชนเป็นคนที่มีสัมมาชีพและมีความประพฤติดี เพื่อเป็นกำลังในการที่จะสร้างประเทศชาติต่อไป”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒๙ ธันวาคม ๒๕๐๒

31. “ผู้ที่เป็นครูอาจารย์นั้น ใช่ว่าจะมีแต่ความรู้ในทางวิชาการ และทางการสอนเท่านั้นก็หาไม่ จะต้องรู้จักอบรมเด็กทั้งในด้านศีลธรรมจรรยา และวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ และในฐานะที่จะเป็นพลเมืองที่ดีของชาติต่อไปข้างหน้า การให้ความรู้หรือที่เรียกว่าการสอนนั้นต่างกับการอบรม การสอน คือ การให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรม เป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบจนติดเป็นนิสัย”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๓

32.“เมื่อเจริญเติบโตขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้ถึงพร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองดีของชาติสืบต่อไป งานของครูจึงเป็นงานที่สำคัญยิ่ง ท่านทั้งหลายซึ่งจะออกไปทำหน้าที่ครู จะต้องตั้งมั่นอยู่ในหลักศีลธรรมและพยายามถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เด็กให้ดีที่สุดที่จะทำได้ นอกจากนี้จงวางตัวให้สมกับที่เป็นครู ให้นักเรียนมีความเคารพนับถือ และเป็นที่เลื่อมใสไว้วางใจจากผู้ปก ครองของนักเรียนด้วย”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๓ ธันวาคม ๒๕๐๕

33.“เพราะครูที่ดีควรต้องมีความรู้ดีด้วยเสมอ ท่านทั้งหลายได้รับปริญญาทางการศึกษาแล้วในวันนี้ ต่อไปจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ เพราะท่านจะออกไปเป็นผู้ให้การศึกษา อบรมแก่เยาวชน ผู้จะเติบโตขึ้นมาเป็นเจ้าของปกครองประเทศในอนาคตและการศึกษาอบรมขั้นพื้นฐานของเยาวชนในปัจจุบันมีความจำเป็นเพื่ออนาคตของชาติมาก เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเห็นความสำคัญของการเป็นครู และเมื่อท่านได้เลือกหน้าที่ของท่านเช่นนี้แล้ว ท่านต้องพยายามทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ด้วยความตั้งใจจริง โดยมุ่งประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒ ธันวาคม ๒๕๐๗

ขอบคุณภาพจาก:: www.kmutt.ac.th

34.“ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้นย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชน แต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้จะเป็นเครื่องกำหนดของชาติในวันข้างหน้า ท่านทั้งหลายจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อท่านออกไปเป็นครู ท่านต้องพยายามทำหน้าที่ของท่านให้สำเร็จโดยสมบูรณ์”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๒ ธันวาคม ๒๕๐๘



35.“การสอนให้นักเรียนมีความรู้ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่มีสิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นอีก คือ จะต้องฝึกหัดให้นักเรียนรู้จักคิดพิจารณา นำวิชาความรู้นั้นไปใช้ในทางที่ถูกต้องเหมาะสมแก่งานได้ด้วย การศึกษาที่ให้ทั้งวิชาการและวิธีใช้วิชาโดยถูกต้องเช่นนี้ จึงจะเป็นการศึกษาที่ดี”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๕ ธันวาคม ๒๕๐๙

36.“โดยเราเคารพยกย่องครูมาก สงเคราะห์ครูเข้าในบุพการีรองจากบิดามารดา ไม่ว่าผู้ใดแม้มียศศักดิ์อำนาจเพียงใด ก็ยังยำเกรงเชื่อฟังครู ไม่ลบหลู่ ไม่ลืมครู เพราะเราถือว่าครูเป็นผู้ปลูกฝังทั้งความรู้และความดีให้แก่เรา เป็นผู้ที่ปั้นเราให้เป็นคนดีมีประโยชน์”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๑

37.“ในที่นี้ผู้เป็นครูก็มีที่จะเป็นครูก็มี ต้องนึกถึงความรับผิดชอบเหมือนกัน เพราะว่าถ้าเป็นครูแล้วลูกศิษย์จะต้องนับถือได้ ต้องวางตัวให้เหมาะสมกับที่เป็นครู ไม่ใช่วางตัวอย่างหนึ่งแล้วมาสอนอีกอย่างหนึ่ง ลูกศิษย์เขาเอาอย่าง ครูต้องสาธิตให้นักเรียนเห็นว่าในชีวิตนี้เราควรจะทำอะไร ถ้าเราสาธิตให้นักเรียนวางตัวให้ดี มีศีลธรรม ก็เชื่อว่าเด็กนักเรียนจะเชื่อฟังและเชื่อตาม เพราะเขาเห็นว่าเหมาะสมดี เขาก็เลื่อมใส เขาก็มีหวังว่าจะเป็นเด็กที่ดี แล้วจะเป็นนักเรียนเป็นนักศึกษา เป็นครูต่อไปก็อาจเป็นได้ เป็นคนที่ดี ทำงานหน้าที่ของพลเมืองดีต่อไป”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๙ ธันวาคม ๒๕๑๒

38. “เป็นหน้าที่…ผู้เป็นครูเป็นอาจารย์เป็นผู้บริหารการศึกษา ที่จะต้องช่วยเหลือด้วยหลักวิชาและความสามารถ ทุกคนได้เรียนวิชาการแนะแนวมาแล้ว ควรจะได้นำหลักการมาปฏิบัติเพื่อให้เยาวชนได้รับประโยชน์อันแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแนะแนวทางความประพฤติและจิตใจซึ่งสำคัญมาก ขอให้เพียรพยายามปลูกฝังความรู้ความคิดที่ปราศจากโทษ ให้แก่เขาโดยเสมอหน้า แนะนำอบรมด้วยเหตุผลและด้วยความจริงใจ ประกอบด้วยความเมตตาปรานี สงเคราะห์อนุเคราะห์และนำพาไปสู่ทางที่ถูกที่เจริญ เยาวชนก็จะเกิดมีความมั่นใจ และมีกำลังใจที่จะทำความดี”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา พิษณุโลก ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๕

39.“งานครูนั้นจัดเป็นงานสำคัญ เพราะเท่ากับเป็นการสร้างคนให้เป็นคนโดยสมบูรณ์ เยาวชนในปัจจุบันเป็นเยาวชนที่อุดมไปด้วยพลังกายพลังใจ และพลังอยากรู้อยากเห็นอยากเปลี่ยนแปลง หากเขาได้รับการอบรมกล่อมเกลาที่ถูกทาง เขาเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง ส่งเสริมให้ประเทศชาติรุ่งเรืองและมั่งคั่งยิ่ง”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

40. “อาชีพครูเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่า เป็นอาชีพที่มีเกียรติ จึงควรจะได้พิจารณากันว่า เกียรตินั้นคืออะไร ปราชญ์ผู้หนึ่งกล่าวไว้ว่า ทุกคนควรเป็นคนที่มีเกียรติ เพราะคนที่มีเกียรตินั้น คือ คนที่ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ใด ทั้งเป็นผู้ขยัน และสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ของตน ทำตนให้เป็นที่เชื่อถือ เป็นคนกล้าและอาจหาญต่อการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในที่ทั้งปวง”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๑๖



41.“ชีวิตครูควรเป็นชีวิตที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้ สามารถปลูกฝังเยาวชนให้มีทั้งความรู้และคุณธรรม อันเหมาะสมแก่การเป็นพลเมืองดีของชาติ ด้วยความรู้และคุณธรรมซึ่งท่านทั้งหลายได้เพียรสั่งสมไว้ ครูจึงจะสมเป็นปูชนียบุคคลได้ตามคติที่เชื่อกันมาแต่โบราณ หากครูหวั่นไหวไปตามโลกธรรมเสียแล้ว ความเป็นปูชนียบุคคลก็ย่อมเป็นที่เคลือบแคลงสงสัย ผู้ถืออาชีพครูจึงพึงปฏิบัติงานของตนด้วยความรู้อันมีคุณธรรมเป็นเครื่องกำกับ จึงจะสมกับการเป็นปูชนียบุคคล”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๑๖

42. “เพราะทุกท่านส่วนใหญ่จะออกไปทำหน้าที่ครูบาอาจารย์ เป็นแม่พิมพ์ของชาติ จึงต้องเป็นแม่พิมพ์ที่ดี ให้กุลบุตรกุลธิดา ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านเจริญรอยไปตามไปในทางที่ดีงาม จะต้องสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่าเราเป็นครู จะต้องปลูกฝังศิษย์ทั้งด้านความรู้ ความประพฤติ และหลักอันดีงาม ไม่ใช่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เราสอนด้านไหนก็ย่อมจะเน้นหนักในด้านนั้นเป็นธรรมดา จะต้องสอดแทรกด้านอื่น ๆ ตามโอกาสและความเหมาะสม”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา มหาสารคาม ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๗

43.“ครูมีหน้าที่ที่จะต้องสั่งสอนแนะนำศิษย์ และศิษย์มีหน้าที่ที่จะต้องเรียนรู้จากครู การที่ให้ศิษย์เรียนรู้จากครู หาได้ทำให้ศิษย์ขาดความริเริ่มหรือขาดอิสรภาพไปได้ประการใดไม่”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร ๓๐ มิถุนายน ๒๕๑๙

44.“ในการสั่งสอนศิษย์นั้น มีความจำเป็นอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมากด้วย ที่จะต้องพยายามหาทางใช้หลักวิชาและ วิธีการสอนทีมีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะช่วยให้นักเรียนสามารถคิด เข้าใจ และเห็นจริงด้วยตนเองในเนื้อหาสาระ ตลอดจนกฎและหลักเกณฑ์ที่ได้เรียนรู้แล้วใช้ได้เอง โดยมองเห็นและทราบถึงประโยชน์ของการใช้หรือการทำตามบทเรียนนั้น ๆ อย่างแน่ใจ ด้วยการให้การศึกษาแก่ศิษย์ โดยหลักการนี้ จะทำให้ได้ประโยชน์ถึงสองชั้น อย่างหนึ่งคือทำให้ครูได้ฝึกฝนตนเองให้ชำนิชำนาญในการใช้ทั้งหลักวิชาครูทั้งหลักวิชาสามัญ อีกอย่างหนึ่งจะทำให้ศิษย์เล่าเรียนวิชาการได้อย่างถูกต้อง ได้ประโยชน์ตรงกับความมุ่งหมายของการให้การศึกษา”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๓ มิถุนายน ๒๔๒๐

45.“หน้าที่ของผู้จัดและผู้ให้การศึกษานั้น กล่าวอย่างสั้นที่สุดก็คือการ “ให้คนได้เรียนดี” เพื่อที่จะสามารถทำการงานสร้างตัวและดำรงตัวให้เป็นหลักเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมได้ การให้เรียนดีนั้นจะทำอย่างไร ข้อแรกจะต้องสอนให้มีวิชาการที่ดี ที่ถูกต้องและแน่นแฟ้นให้มีความสามารถและมีหลักการในการปฏิบัติ ข้อสอง ต้องฝึกหัดอบรมในจิตใจและความประพฤติปฏิบัติ ให้รู้เหตุรู้ผลและความผิดชอบชั่วดี เพื่อมิให้นความรู้ไปใช้ทางเบียดเบียนกันและกัน ข้อที่สาม ต้องให้มีกำลังและสุขภาพสมบูรณ์ทั้งทางกายและทางใจ ผู้ที่ได้รับการศึกษาครบถ้วนเหมาะส่วนกันทุกด้านดังนี้ เชื่อได้ว่าจะเป็นผู้เข้มแข็งสามารถเต็มที่ในการปฏิบัติ ทั้งทางกายและทางคงวามคิดจิตใจ จะกระทำหน้าที่การงานใดก็จะมุ่งหวังผลประโยชน์ที่แท้จริงของหน้าที่การงานนั้นเป็นใหญ่ ไม่หลงทาง ทั้งจะสามารถปฏิบัติบริหารอย่างมีประสิทธิภาพให้บรรลุผลอันสมบูรณ์ได้ด้วย”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๑

46.“ในการให้การศึกษาแก่ผู้อื่นโดยเฉพาะแก่เยาวชน การให้การศึกษานั้น กล่าวสั้น ๆ โดยความหมายรวบยอด คือการช่วยให้บุคคลค้นพบวิธีดำเนินชีวิตที่ถูกต้องเหมาะสม ไปสู่ความเจริญและความสุขตามอัตภาพ ตามนัยนี้ผู้สอนมีหน้าที่ต้องหาความรู้ และวิธีดำเนินชีวิตมาให้ศิษย์ได้รู้ได้ทราบ เพื่อให้สามารถเรียนรู้ต่อไป และดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยดี จนบรรลุจุดหมาย ความรู้กับวิธีการนั้นมีอยู่แล้วครบถ้วนพร้อมมูล ผู้ใดมีอุบาย หรือมีกระบวนการคิดการปฏิบัติอันแยบคาย ย่อมแสวงหาและหยิบยกมาใช้ได้ โดยถูกต้องพอเหมาะพอดีตามต้องการ”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ๑๙มิถุนายน ๒๕๒๒



47. “การศึกษานอกระบบ หรือการศึกษาภายหลังสำเร็จจากมหาวิทยาลัย จึงมีความสำคัญยิ่งยวด ในการสร้างเสริมผู้ผ่านการศึกษาในระบบมาแล้ว ให้มีปัญญาและความสามารถที่จะปรับตนให้เข้ากับสภาวะแท้จริงของชีวิต พร้อมทั้งดำรงตนให้อยู่ในสังคมอย่างเป็นสุขและเจริญมั่นคงได้”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๓๖

48.“ความรู้ที่จะศึกษามีอยู่สามส่วน คือ ความรู้วิชาการ ความรู้ปฏิบัติการ และความคิดอ่านตามเหตุผลความเป็นจริงซึ่งแต่ละคนควรเรียนรู้ให้ครบ เพื่อสามารถนำไปใช้ประกอบกิจการงาน และแก้ปัญหาทั้งปวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๓๕

49. “การศึกษาขั้นมหาวิทยาลัยคือการศึกษาค้นคว้า เพื่อสร้างเสริมและสะสมความรู้ ความจัดเจน ในด้านวิชาการอย่างสูง และด้านการใช้ความคิดวิจารณญาณตามเหตุผลหลักวิชาความถูกต้อง ผู้มีปัญญาซึ่งได้ผ่านการศึกษาระดับนี้ จัดว่าเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ผู้จะเป็นกำลังสร้างสรรค์ความเจริญมั่นคงทุกด้านของประเทศอย่างสำคัญต่อไป เหตุนี้ บัณฑิตทั้งหลายจึงมีหน้าที่รับผิดชอบเกิดขึ้น ที่จะต้องนำความรู้ ความคิด และความสามารถจัดเจนของตนออกปฏิบัติงาน เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวมและบ้านเมือง”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๓๓

50.“การศึกษาค้นคว้าที่สำคัญและจำเป็นอย่างแรก คือการศึกษาทางแนวลึก อันได้แก่การฝึกฝนค้นคว้าวิชาเฉพาะของแต่ละคน ให้เชี่ยวชาญชำนาญแตกฉานลึกซึ้ง และพัฒนาก้าวหน้าพร้อมกันนั้น ในฐานะนักปฏิบัติ ซึ่งจะต้องทำงานและแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกับผู้อื่นฝ่ายอื่นอยู่เป็นปรกติ ทุกคนจำเป็นต้องศึกษาทางแนวกว้างควบคู่กันไปด้วย การศึกษาตามแนวกว้างนี้ หมายถึง การศึกษาให้รู้ให้ทราบ ถึงวิทยาการสาขาอื่นๆ ตลอดจน ความรู้รอบตัวเกี่ยวกับสภาวะและวิวัฒนาการของบ้านเมืองและสังคมในทุกแง่มุม เพื่อช่วยให้มองเห็น ให้เข้าใจปัญหาต่างๆ อย่างชัดเจนถูกถ้วน และสามารถนำวิชาการด้านของตน ประสานเข้ากับวิชาด้านอื่นๆ ได้โดยสอดคล้องถูกต้อง และเหมาะสม”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๓๓



51. “การศึกษาหาความรู้จึงสำคัญตรงที่ว่า ต้องศึกษาเพื่อให้เกิด ความฉลาดรู้ คือรู้แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้จริงๆ โดยไม่เป็นพิษเป็นโทษ การศึกษาเพื่อความฉลาดรู้ มีข้อปฏิบัติที่น่ายึดเป็นหลักอย่างน้อยสองประการ ประการแรก เมื่อจะศึกษาสิ่งใดให้รู้จริง ควรจะให้ศึกษาให้ตลอด ครบถ้วนทุกแง่ทุกมุม ไม่ใช่เรียนรู้แต่เพียงบางส่วนบางตอน หรือเพ่งเล็งเฉพาะบางแง่บางมุม อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะต้องปฏิบัติประกอบพร้อมกันไปด้วยเสมอ คือต้องพิจารณา ศึกษาเรื่องนั้นๆ ด้วยความคิดจิตใจที่ตั้งมั่นเป็นปรกติ และเที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ยอมให้รู้เห็นและเข้าใจ ตามอำนาจความเหนี่ยวนำของอคติ ไม่ว่าจะเป็นอคติฝ่ายชอบหรือฝ่ายชังมิฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นความรู้แท้ หากแต่เป็นความรู้ที่ถูกอำพรางไว้ หรือที่คลาดเคลื่อนวิปริตไปต่างๆ จะนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ โดยปราศจากโทษไม่ได้”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๒๔

52. “ลักษณะของการศึกษาหรือการเรียนรู้นั้น มีอยู่สามลักษณะ ได้แก่ เรียนรู้ตามความรู้ ความคิด ของผู้อื่นอย่างหนึ่งเรียนรู้ด้วยการขบคิดพิจารณาของตนเองให้เห็นเหตุผลอย่างหนึ่ง กับเรียนรู้จากการปฏิบัติฝึกฝนจนประจักษ์ผล และเกิดความคล่องแคล่วชำนาญอีกอย่างหนึ่ง”

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๒๔

53.“สำหรับโรงเรียนนายร้อยซึ่งเป็นสถาบันที่ให้การศึกษานั้น ก็ต้องให้การศึกษาที่ดีที่ถูกต้องแก่นักเรียนแต่ละคนให้ครบถ้วน คือให้มีวิชาการที่แน่นหนา มีความรู้รอบตัวและประสบการณ์ที่กว้างขวางทั่วถึง สำคัญที่สุด จะต้องให้ทุกคนมีวิชาและความสามารถจัดเจน ทั้งในด้านยุทธการ และในด้านการสร้างสรรค์ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนควบคู่กัน เพราะทหารมีภารกิจหลักอยู่ที่การป้องกันประเทศและการรักษาความสงบสุขมั่นคงของประชาชนทั้งสองประการ”

พระบรมราโชวาท ในพิธีสวนสนามของนักเรียนนายร้อย โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เนื่องในโอกาสที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ครบ ๑๐๐ ปี วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔

54.“ผู้มีหน้าที่จัดการศึกษาทุกๆ คนจึงต้องถือว่า ตัวของท่านมีความรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมืองอยู่อย่างเต็มที่ ในอันที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เที่ยงตรง ถูกต้อง สมบูรณ์โตเต็มกำลังจะประมาทหรือละเลยมิได้ เพราะถ้าปฏิบัติให้ผิดพลาดบกพร่องไปด้วยประการใดๆ ผลร้ายอาจเกิดขึ้นแก่ส่วนรวมและประเทศชาติได้มากมาย”

พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ครูและนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๔

ขอบคุณที่มา : campus.campus-star.com

อย่าลืมกดถูกใจเพจสถานีครูดอทคอม ไว้ด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดข่าวครู สื่อการเรียนการสอนของครูจากเรา เพราะเราอยากเห็นคุณครูมีความสุข


Comments

comments

- Advertisement -

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่