ปัญญาสมาพันธ์ฯ จัดเสวนา “สอนเด็กไทยอย่างไรให้มีคุณภาพ” พร้อมแนะเทคนิคเรียน-เล่น ช่วยสร้างพัฒนาการเด็กปฐมวัย
ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จัดเสวนาพิเศษ “สอนเด็กไทยอย่างไรให้มีคุณภาพ?” พร้อมเปิดผลวิจัยพบเด็กไทยเน้นสอนเชิงวิชาการ ขณะที่เด็กญี่ปุ่นเน้นพัฒนาด้านความคิดและอารมณ์ในผลวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาปฐมวัยในบริบทของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น”
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย กล่าวว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว จะให้ความสำคัญกับการทำโพลล์สาธารณะและงานวิจัยที่มาจากองค์กรอิสระเป็นอย่างมาก เพราะสามารถสะท้อนความเห็นของประชาชนในประเทศนั้นๆ จึงต้องการเห็นประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านการวิจัยมากยิ่งขึ้น สามารถนำข้อมูลที่ได้กลับมาพัฒนาสังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน จึงได้ให้การสนับสนุนปัญญาสมาพันธ์ฯ มาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี และได้ผลิตผลงานวิจัยที่เป็นองค์ความรู้แง่มุมต่างๆ แก่สังคมตลอดมา
ด้าน รศ.ดร. จีรเดช อู่สวัสดิ์ ประธานกรรมการ คณะกรรมการบริหารนโยบาย ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัญญาสมาพันธ์ฯ ได้จัดทำผลวิจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมจำนวน 27 ชิ้น ในหลากหลายมิติซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม หลายกลุ่ม หลายระดับ เละ ได้มอบผลงานวิจัยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปต่อยอดสู่การวางแผน แก้ปัญหา รวมถึงก่อให้เกิดพัฒนาในระดับชุมชน และสังคมต่อไป
ในส่วนของงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาเปรียบเทียบการจัดการศึกษาปฐมวัยในบริบทของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ ปัญญาสมาพันธ์เพื่อการวิจัยความเห็นสาธารณะแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลวิจัยว่า ประชากรเด็กก่อนวัยเรียน หรือเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและจะส่งผลต่อเนื่องจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเซลล์สมอง ประสบการณ์และทักษะพื้นฐาน ดังนั้นการวางรากฐานด้านการเรียนรู้ของเด็กจะมีส่วนสำคัญต่อความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนบุคลิกภาพในอนาคต การพัฒนาเด็กตั้งแต่ปฐมวัยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ย่อมมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรบุคคลของชาติในอนาคต
จากผลการวิจัยพบว่าประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาความสามารถในการรู้คิดและพัฒนาการทางอารมณ์ สมรรถนะทางกาย ผ่านกระบวนการเล่นถือเป็นสิ่งส่งเสริมพัฒนาการเด็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย นอกจากนั้นยังสนับสนุนการเล่นเป็นทีม โดยจะให้เด็กเล่นคละอายุและคละเพศ ด้วยกระบวนการ วิธีการที่ไม่จำกัดเวลา สถานที่ ตลอดจนการจัดวางของเล่น ทำให้ระบบคิดและจินตนาการทำงานต่อเนื่อง
ไม่ติดขัด โดยครูปฐมวัยญี่ปุ่นจะมีบทบาทเป็นผู้ให้คำแนะนำ และกระตุ้นให้เด็กคิดแก้ไขสถานการณ์ แต่ไม่ใช่เป็นผู้สั่งการหรือผู้คิดวางแผน ทั้งนี้หลักสูตรของญี่ปุ่นจะจัดให้เด็กเรียนแค่ 6 ด้าน ดังนี้ คือ 1) พลานามัย 2) สังคมศึกษา 3) ธรรมชาติศึกษา 4) ภาษา 5) ดนตรีและจังหวะ และ6) การวาดภาพและงานฝีมือ นอกจากนี้ยังพบว่าประเทศญี่ปุ่นมีวิธีการการสร้างคนที่ต่างกัน คือเรื่อง “จิตสาธารณะ” โดยในหลักสูตรทุกด้านของญี่ปุ่นจะเน้นสร้างให้เด็กมีความคิดคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมก่อนการเห็นประโยชน์ส่วนตน
“ช่วงปฐมวัยของเด็กเป็นช่วงเวลาทองของการสร้างคนให้มีสำนึกสาธารณะ ซึ่งการวิจัยพบว่าสำนึกสาธารณะที่เห็นประโยชน์ของคนอื่นก่อนตนเอง และสามารถสร้างให้เกิดได้จริงด้วยกระบวนการเล่น การเล่นที่ถูกออกแบบมาอย่างสร้างสรรค์ด้วยการคละอายุ เพศ และกิจกรรมของเด็ก จะสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบต่อตนเอง ต่อรุ่นพี่รุ่นน้อง และเพื่อนต่างเพศ เด็กจะถูกสอนให้เข้าใจกระบวนการวางแผนโดยธรรมชาติ สอนให้รู้จักการบริหารจัดการการเล่นของตนให้มีทั้งความสนุกและความรับผิดชอบต่อผู้เล่นคนอื่น สอนทักษะการเข้าสังคม การอยู่ร่วมกัน การใช้ภาษา ความเมตตาต่อกัน และที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีม การเล่นมีคุณอนันต์และมีคุณค่าเพียงพอต่อการสร้างพื้นฐานคนที่สมบูรณ์” ผศ.ดร.วิมลทิพย์ กล่าว
ผศ.ดร.วิมลทิพย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ด้วยการเล่น เปรียบเทียบการศึกษาเหมือนการวิ่งมาราธอน หากเราให้ลูกหลานตัวเล็กๆของเราวิ่ง100 เมตร ด้วยความเร็วความเร่งตั้งแต่ต้นแล้ว พวกเขาจะเหน็ดเหนื่อยและมองว่าการเรียนเป็นความทุกข์ ตรงกันข้าม ถ้าเราให้พวกเขาค่อยๆวิ่ง ระหว่างวิ่งก็สามารถแวะชื่มชมความงามตามธรรมชาติรอบข้างตามความสนใจแห่งวัย การเรียนจะกลายเป็นความสนุก และทำให้อยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จนแก่จนเฒ่า”
ขอบคุณที่มา: ประชาชาติธุรกิจ
อย่าลืมกดถูกใจเพจสถานีครูดอทคอม ไว้ด้วยนะครับ จะได้ไม่พลาดข่าวครู สื่อการเรียนการสอนของครูจากเรา เพราะเราอยากเห็นคุณครูมีความสุข