การประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก โดยใช้โครงงานคุณธรรมเป็นฐาน

0
782

ชื่อเรื่อง           การประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก โดยใช้โครงงานคุณธรรมเป็นฐาน

ชื่อผู้     นายประจวบ อินทรโชติ

ปีที่       ปี 2563   

บทคัดย่อ

            การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก โดยใช้โครงงานคุณธรรมเป็นฐาน ประกอบด้วย 1.1) การประเมินด้านสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) 1.2) การประเมินด้านปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) 1.3) การประเมินด้านกระบวนการ (Process Evaluation) 1.4) การประเมินด้านผลผลิต (Product Evaluation) 1.5) การประเมินด้านผลกระทบ (Impact Evaluation) และ 2) จัดทำข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก สู่ความยั่งยืน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากร นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้แทนประชาชนในชุมชนรอบข้างโรงเรียนทวีธาภิเศก ปี 2563 จำแนกเป็น บุคลากร 99 คน นักเรียน 1,219 คน ผู้ปกครอง 1,219 คน และผู้แทนประชาชนในชุมชน 35 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ 5 ฉบับ แบบประเมินโครงงาน 1 ฉบับ แบบประเมินคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียน 1 ฉบับ แบบประเมินเจตคติ 1 ฉบับ แบบสรุปผลการประเมินโครงงาน 1 ฉบับ และ แบบสรุปผลการคัดเลือกห้องเรียนคุณธรรมอัตลักษณ์ต้นแบบ 1 ฉบับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้

          1. ผลการประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก โดยใช้โครงงานคุณธรรมเป็นฐาน พบว่า

              1.1 ด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ 1.2 ด้านปัจจัยนำเข้าที่ใช้ในการดำเนินโครงการ และ 1.3 ด้านกระบวนการในการดำเนินโครงการ โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกัน

              1.4 ด้านผลผลิตของโครงการ พบว่า 1.4.1) การดำเนินกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน โดยภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ 1.4.2) โครงงานคุณธรรมของนักเรียนทั้ง 72 โครงงาน โดยภาพรวมมีการคุณภาพอยู่ในระดับดี ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ 1.4.3) โครงงานคุณธรรมของนักเรียน มีคุณภาพระดับรางวัลเหรียญทอง 24 โครงงาน เหรียญเงิน 36 โครงงาน และเหรียญทองแดง 12 โครงงาน 1.4.4) คุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก โดยภาพรวมอยู่ในระดับดีเยี่ยม ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ 1.4.5) ห้องเรียนคุณธรรมต้นแบบ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/3 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/6 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/4 และ ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ได้แก่ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/2 และ 1.4.6) เจตคติของนักเรียนที่มีต่อการดำเนินงานตามโครงการ โดยภาพรวมอยู่ในระดับดี ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้

               1.5 ด้านผลกระทบอันเนื่องมาจากผลผลิตของโครงการ พบว่า ผู้ปกครอง และประชาชนในชุมชนรอบข้างโรงเรียนทวีธาภิเศก มีความพึงพอใจต่อพฤติกรรมบ่งชี้เชิงบวกของนักเรียน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ผ่านเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกัน

          2. ข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก สู่ความยั่งยืน พบว่า

              2.1 มีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการ รวม 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านเครือข่ายความร่วมมือ ควรมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ระหว่างสถานศึกษา ชุมชน หรือหน่วยงานอื่นที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับสถานศึกษา 2) ด้านการประชาสัมพันธ์ ควรประชาสัมพันธ์และขยายผลการดำเนินตามโครงการไปยังหน่วยงานอื่น ทั้งภาครัฐหรือเอกชน เพิ่มมากขึ้น 3) ด้านพฤติกรรมของนักเรียน ควรมีการประเมินพฤติกรรมของนักเรียน ร่วมกันระหว่างสถานศึกษา กับเครือข่ายความร่วมมือ ทุกปีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และ 4) ด้านการวิจัย ควรมีการวิจัยเพื่อสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน โดยใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริง เพื่อให้นักเรียนเกิดการบ่มเพาะความดี มีคุณธรรมอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นระบบ

              2.2 ครูผู้สอน มีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการ รวม 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านโครงงานคุณธรรม ควรมีการบูรณาการจัดทำโครงงานคุณธรรมในแผนการจัดการเรียนรู้ที่เสริมสร้างคุณธรรมอัตลักษณ์ โดยผ่านโครงงานคุณธรรมและกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกับวิชาอื่น ๆ 2) ด้านนวัตกรรมการเรียนรู้ ควรมีการสร้างสรรค์นวัตกรรมการเรียนรู้ จากการสำรวจปัญหาด้านคุณธรรมในสถานศึกษา วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการพัฒนาคุณธรรมในสถานศึกษา ผลิตนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานำนวัตกรรมที่ผลิตไปทดลองใช้ แล้วนำมาปรับปรุงจนเกิดประสิทธิภาพและนำนวัตกรรมไปใช้จริงในสถานศึกษา และ 3) ด้านเครือข่ายความร่วมมือ ควรมีการสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนโครงการ ระหว่างเพื่อนครูในโรงเรียน และนอกโรงเรียน 

              2.3 นักเรียน มีข้อเสนอแนวทางการพัฒนาโครงการ รวม 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ควรมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปองค์ความรู้จากโครงงานคุณธรรมของนักเรียน เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานตามโครงการ ทุกปี และนำเสนอองค์ความรู้เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับโรงเรียนอื่น ๆ รวมถึงมีการเผยแพร่สู่สาธารณชนในรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น 2) ด้านการเขียนรายงานโครงงาน ควรให้ความรู้และฝึกทักษะการเขียนรายงานผลการจัดทำโครงงานให้กับนักเรียนมากยิ่งขึ้น และ 3) ด้านเครือข่ายความร่วมมือ ควรมีการจัดตั้งกลุ่มหรือชมรมตามความสนใจเพื่อปฏิบัติกิจกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และขยายผลด้านคุณธรรม จริยธรรมของนักเรียน ภายในโรงเรียน ระหว่างโรงเรียน หรือชุมชน

คำสำคัญ : คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน / คุณธรรมอัตลักษณ์ของโรงเรียนทวีธาภิเศก /

              โครงงานคุณธรรมของนักเรียน

ดาวน์โหลดบทคัดย่อ

การประเมินโครงการส่งเสริมคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามคุณธรรมอัตลักษณ์ ของนักเรียนโรงเรียนทวีธาภิเศก โดยใช้โครงงานคุณธรรมเป็นฐาน

Comments

comments

- Advertisement -