การจัดการเรียนการสอนเชิงรุกโดยใช้กระบวนการ GPAS ผ่านเพลงภาษาอังกฤษ

0
274

ผลงานวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best Practice)
ชื่อผลงาน การจัดการเรียนการสอนเชิงรุกโดยใช้กระบวนการ GPAS ผ่านเพลงภาษาอังกฤษ
ชื่อผู้นำเสนอผลงาน นางสาวฐิติยาภรณ์ โกสูงเนิน ตำแหน่ง โรงเรียนบ้านพระเพลิง อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระแก้ว เขต 1

ความเป็นมาและความสำคัญ
เพลงเป็นกิจกรรมที่ผู้จัดให้กับนักเรียนได้เรียนรู้จากเนื้อหา ทำนอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นชีวิตและวัฒนธรรมในแง่มุมต่างๆ อีกทั้งยังแนะนำสั่งสอนในด้านคุณธรรมอันเป็นแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้อีกด้วย นักเรียนจะได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานควบคู่กันไป (สนอง อินละคร, 2544:108) สอดคล้องกับ (เอกรินทร์, 2546) กล่าวว่า เพลงนับเป็นสื่อที่มีอิทธิพลอย่างมากในการกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เพลงจะถ่ายทอดและสะท้อนให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิต การตั้งใจฟังเพลงเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาหรือความหมายจึงเป็นแรงจูงใจอย่างหนึ่งของผู้เรียน นอกจากนี้ผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะยินดีและเต็มใจที่จะร้องเพลงภาษาอังกฤษแม้ว่าพวกเขาจะไม่เข้าใจเนื้อหาหรือความหมายของเพลงทั้งหมด ทั้งนี้เพราะวัตถุประสงค์ของการเรียนภาษาที่แท้จริงนั้นก็คือต้องการให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาในชีวิตประจำวันได้ไม่ใช่เรียน แต่ตัวภาษา ดังนั้นการที่ผู้เรียนสามารถร้องเพลงภาษาอังกฤษได้นับเป็นก้าวแรกในการใช้ภาษาอังกฤษที่จะ นำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนและใช้ในชีวิตจริงต่อไป จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
2.1 จุดประสงค์
เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน โดยใช้วิธีการการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกโดยใช้กระบวนการ GPAS ผู้เรียนสามารถฟัง อ่าน และพูดออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษได้อย่างถูกต้องใกล้เคียงกับเจ้าของภาษา มีความสุขในการเรียนรู้มีความตระหนักถึงความสำคัญในการเรียนรู้ มีเจตคติที่ดี และสามารถนำความรู้ที่ได้มาพัฒนาตนเองต่อไป
2.2 เป้าหมาย
เป้าหมายเชิงปริมาณนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านพระเพลิง จำนวน 28 คน เป้าหมายเชิงคุณภาพผู้เรียนได้ฝึกวิธีการออกเสียงคำศัพท์ ผ่านเพลงภาษาอังกฤษ มีโอกาสแสดงความสามารถและศักยภาพของตนเองในด้านการร้องเพลง สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างมั่นใจ

ขั้นตอนการดำเนินงาน
เพลงที่ใช้เป็นสื่อการจัดการเรียนการสอน จะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องในหน่วยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะต้องรู้ จากนั้นนำคำศัพท์ที่ได้จากการวิเคราะห์และเลือกแล้วมาแต่งโดยการใช้ทำนองเพลงสมัยใหม่ ที่นักเรียนคุ้นหูในการจัดการเรียนการสอนเชิงรุกโดยใช้กระบวนการ GPAS โดยมี 4 ขั้นตอนดังนี้

-Gathering คือการรวบรวมความรู้พื้นฐานของนักเรียนโดยผ่านกระบวนการตั้งคำถามหรือวิธีการ อื่นๆที่เหมาะสม เพื่อนำมาสู่การคัดเลือกคำศัพท์ที่เพิ่มเติมจากหน่วยการเรียนรู้นั้นๆให้กับผู้เรียน

-Processing คือการกระทำข้อมูลให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในขั้นตอนนี้จะเริ่มนำเพลงเข้ามาให้ผู้เรียนนั้นได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ที่อยู่ในเพลงผ่านทำนองเพลงสมัยใหม่

-Applying คือการประยุกต์ใช้เป็นขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนนั้นเกิดความสามารถรวมทั้งการใช้ความรู้อย่างสร้างสรรค์ อีกทั้งการประยุกต์จากการฟังเพลงและนำคำศัพท์ที่เรียนรู้ไปต่อยอดในทักษะต่างๆ และ

-Self-Regulating คือเป็นการควบคุมการออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้หลังจากการฟัง รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้หลังจากการฟังเพลงของผู้เรียน

ผลการดำเนินงาน/ประโยชน์ที่ได้รับ

ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข ผ่านเพลงภาษาอังกฤษ เนื่องจากผู้เรียนได้เรียนรู้จากเพลง กล้าพูดกล้าแสดงออก ทำให้ผู้เรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง นอกจากนี้ ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ได้ในหลายๆ กิจกรรม และใช้ในชีวิตประจำวัน

ปัจจัยความสำเร็จ

ความร่วมมือของนักเรียนในการทำกิจกรรมทั้งในและนอกห้องเรียนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมความพร้อมของอุปกรณ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

การฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

บทเรียนที่ได้รับ

จากการที่ได้การจัดการเรียนการสอนเชิงรุกโดยใช้กระบวนการ GPAS ส่งผลให้ผู้เรียนมีความมั่นใจในการออกเสียงคำศัพท์ภาษาอังกฤษมากขึ้น มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เรียนภาษาอังกฤษอย่างมี ความสุข เนื่องจากได้เรียนผ่านสื่อที่ตนเองชื่นชอบ และสามารถนำไปใช้ต่อยอดได้ในการศึกษาต่อไปในอนาคตและในชีวิตประจำวัน

การเผยแพร่/รางวัลที่ได้รับ
7.1 ขยายผลการวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศแก่เพื่อนครูในกลุ่มสาระการเรียนรู้ ครูโรงเรียนบ้านพระเพลิง ครูต่างโรงเรียน และบุคคลทั่วไป ผ่านทางสื่อ Social Media ต่าง ๆ
7.2 ผู้เรียนได้รับรางวัลเหรียญทองการแข่งขันร้องเพลงภาษาอังกฤษ (English song) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ในการแข่งขันทักษะวิชาการ “เด็กสระแก้วก้าวล้ำวิชาการ สืบสานท้องถิ่นศาสตร์ศิลป์ในศตวรรษที่ 21

Comments

comments

- Advertisement -