การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม

0
605

ชื่อเรื่อง การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม
ประจำปี 2564 –
ผู้ศึกษาค้นคว้า นายจิรศักดิ์ สมจิตต์
บทคัดย่อ
การศึกษาค้นคว้าครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ประจำปี 2564 – กลยุทธ์ที่ใช้ในการพัฒนา คือ การดำเนินการพัฒนาใช้หลักการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) ดำเนินการเป็น 2 วงรอบ แต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนผล (Reflection) กลยุทธ์ ที่ใช้ในการดำเนินการพัฒนา ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า ได้แก่ 1. ผู้บริหารโรงเรียนและครูโรงเรียนนครนายกวิทยาคม จำนวน 118 คน 2. คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนนครนายกวิทยาคม จำนวน 14 คน 3. นักเรียนที่เรียนในโรงเรียนนครนายกวิทยาคม ประจำปี 2564 – 2565 จำนวน 335 คน 4. ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนนครนายกวิทยาคม ประจำปีการศึกษา 2564 – 2565 จำนวน 335 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต และแบบสำรวจ และนำเสนอผลการศึกษาค้นคว้าโดยวิธีการพรรณนา
ผลการดำเนินงานวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศ พบว่า กรอบงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ประจำปี 2564 – ทั้ง 5 ด้านได้รับการพัฒนา ดังนี้

  1. การจัดเก็บข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลในระบบบริหารจัดการสารสนเทศโรงเรียน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินงาน ระยะเวลา ในการจัดทำเป็นรายบุคคลชัดเจนยิ่งขึ้น สามารถบันทึกข้อมูลพื้นฐานของนักเรียนได้ สามารถกรอกข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน เช่น ด้านการเรียน สุขภาพ ครอบครัว หรือการใช้สารเสพติด การพนัน หนีเรียน เป็นต้น มีความชัดเจนในการกรอกและบันทึกข้อมูล ดำเนินการให้นักเรียนทุกคนมีข้อมูลประจำตัวนักเรียนเป็นรายบุคคลได้ครบ แต่ประสบปัญหาในด้านความรับผิดชอบในการบันทึกให้แล้วเสร็จในเวลาที่กำหนด ไม่สนใจศึกษาคู่มือ การจัดเก็บข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลที่ย้ายเข้ามาใหม่ล่าช้า และไม่มีการบันทึกข้อมูลในระบบสารสนเทศที่เป็นปัจจุบัน
  2. การคัดกรองนักเรียน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติการการคัดกรองนักเรียนเป็นอย่างดี แต่ปัญหาเรื่องการขาดความร่วมมือจากชุมชน/ผู้ปกครองในการให้ความร่วมมือ ในการให้ข้อมูลของบุตรหลานจึงทำให้การแก้ปัญหาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น
  3. การส่งเสริมนักเรียน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ ความเข้าใจในการส่งเสริมนักเรียนค่อนข้างดีจะมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่ขาดความเอาใจใส่ทำให้การดำเนินโครงการเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น เกิดอุปสรรค เช่น ขาดความต่อเนื่องในการจัดทำโครงการ รวมถึงเวลาในการที่จะจัดกิจกรรมในการส่งเสริมนักเรียน
  4. การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพเป็นอย่างดี แต่มีปัญหาเรื่องของการบันทึกตรวจแล้วไม่บันทึก ยังเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของ ครูที่ปรึกษาเพียงอย่างเดียว รวมถึงขาดความรู้ความเข้าใจในตัวนักเรียน ครูที่ปรึกษาหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรจะมีความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการให้การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน เช่น 1) มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของหลักจิตวิทยาของวัยรุ่น 2) ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ทั้งร่างกายและจิตใจ 3) กระบวนการและทักษะการปรึกษาเบื้องต้นที่สำคัญ ๆ คือ การสร้างสัมพันธภาพ การใช้คำถาม การรับฟังเนื้อหาและความรู้สึก ข้อพึงตะหนักในการป้องกันและแก้ไขปัญหาของนักเรียนที่สำคัญคือ การรักษาความลับ เรื่องราวข้อมูลของนักเรียนที่ต้องช่วยเหลือแก้ไข อีกทั้งการแก้ไขปัญหาของนักเรียนต้องพิจารณาสาเหตุของปัญหาให้ครบถ้วน และหาวิธีการช่วยเหลือเหมาะสมกับสาเหตุนั้น ๆ
  5. การส่งต่อนักเรียน มีทั้งการส่งต่อภายในและการส่งต่อภายนอก การส่งต่อภายในจะปฏิบัติเมื่อครูที่ปรึกษาพบว่าปัญหานั้นอยู่เกินในระดับของเกณฑ์ที่กำหนดไว้ จึงอาจส่งต่อนักเรียนไปยังครูหรือฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ดูแลช่วยเหลือนักเรียนต่อไป ซึ่งทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของปัญหา การส่งต่อภายนอกนั้น
    เมื่อมีการส่งนักเรียนต่อไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วไม่สามารถแก้ไขได้ การส่งต่อนักเรียนไปยังผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะทำให้การช่วยเหลือนักเรียนเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
    การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ประจำปี 2564 – วงรอบที่ 1 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารและครู และผู้ปกครอง มีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ผลการดำเนินงานโดยภาพรวมเหมาะสมอยู่ในระดับดี (x̄= 3.25, S.D. = 0.73)
    ผลการดำเนินงานวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศแบบกัลยาณมิตร เตรียมคู่มือการนิเทศตารางนิเทศ ปัญหาในกรอบของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนครนายกวิทยาคมทั้ง 5 ด้านได้แก่ 1) การจัดเก็บข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลในระบบบริหารจัดการสารสนเทศโรงเรียน 2) การคัดกรองนักเรียน 3) การส่งเสริมนักเรียน 4) การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน 5) การส่งต่อนักเรียนโดยให้ความรู้แนะนำให้คำปรึกษาหารือสร้างขวัญกำลังใจให้ศึกษาเอกสารสาธิตการปฏิบัติการในบางเรื่องให้ศึกษาดูงานเปรียบเทียบในชั้นเรียนที่จัดการในเรื่องที่ดำเนินการได้ดีแล้วพบว่ากรอบงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนนครนายกวิทยาคม ทั้ง 5 ด้านได้รับการพัฒนาดีขึ้น ดังนี้
  6. การจัดเก็บข้อมูลนักเรียนเป็นรายบุคคลในระบบบริหารจัดการสารสนเทศโรงเรียน กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานดียิ่งขึ้นสามารถจัดทำได้ครบทุกรายการและมีความถูกต้องเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด จากการสัมภาษณ์สามารถตอบคำถามในขั้นตอนวิธีการปฏิบัติงาน ได้อย่างชัดเจน
  7. การคัดกรองนักเรียนพบว่า กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความตระหนักในปัญหาการคัดกรอง สังเกตได้จากการที่ครูที่ปรึกษามีความระมัดระวังอย่างยิ่งที่จะไม่ทำให้นักเรียนรับรู้ถึงความรู้สึกว่าตนเป็นกลุ่มที่เสี่ยง/มีปัญหา และมีความรู้สึกผิดแผกแตกต่างไปจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ดังนั้นครูที่ปรึกษาต้องเก็บผลการคัดกรองนักเรียนเป็นความลับ นอกจากนี้เมื่อครูที่ปรึกษามีการประสานงานกับผู้ปกครองเพื่อให้การคัดกรองนักเรียนได้ผลยิ่งขึ้น การสื่อสารก็ทำได้ดีขึ้นผู้ปกครองให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลเป็นไปได้ด้วยดี
  8. การส่งเสริมนักเรียนจากการสังเกตและสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้าบางรายมีความรู้ความเข้าใจต่อการส่งเสริมนักเรียนดีมากได้ดำเนินการทุก ๆ สัปดาห์ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จะใช้เวลาในชั่วโมงโฮมรูมให้ความรู้เกี่ยวกับด้านต่าง ๆ เช่น การรู้จักตนเองของนักเรียน การรู้จักผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม มีทักษะการตัดสินใจ ทักษะการปรับตัวและการวางแผนชีวิต เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ครูและนักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นอย่างดี
  9. การป้องกันและช่วยเหลือนักเรียนจากการสังเกตการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้ามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันและช่วยเหลือนักเรียนเป็นอย่างดีจากการใช้แบบสังเกต แบบสำรวจรายการเป้าหมายจะดำเนินการป้องกันและช่วยเหลือนักเรียน และบันทึกในระบบบริหารจัดการสารสนเทศโรงเรียนรายบุคคลได้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการบันทึก
  10. การส่งต่อเมื่อนักเรียนเกิดปัญหาจากการสังเกตการสัมภาษณ์ พบว่า กลุ่มผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า มีความรู้ความเข้าใจในการส่งต่อนักเรียนเป็นอย่างดีสามารถที่จะแก้ปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ กลุ่มเป้าหมายตระหนักในปัญหาการส่งต่อนักเรียนมาก เห็นได้จากการจัดปรับปรุงห้องแนะแนวให้มีบรรยากาศที่ดูสดใส และเป็นกันเอง ส่วนห้องพยาบาลมีการจัดหาเวชภัณฑ์อุปกรณ์ประจำห้องพยาบาล ปรับปรุงให้สะอาดเรียบร้อย จัดทำสถิติผู้ป่วยและเครื่องอำนวยความสะดวกในห้องพักรักษาพยาบาลพร้อมที่จะให้บริการ ได้ตลอดเวลา
    การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม ประจำปีการศึกษา 2564 – วงรอบที่ 2 ตามความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารโรงเรียนและครู และผู้ปกครองมีความคิดเห็นสอดคล้องกันว่า ผลการดำเนินงานทั้งโดยภาพรวมเหมาะสมอยู่ในระดับดีมาก (x̄ = 3.36, S.D. = 0.68)
    จากการศึกษาค้นคว้าเป็นที่น่าสังเกตว่า ในการดำเนินการในวงจรโดยใช้กลยุทธ์การประชุม เชิงปฏิบัติการและการนิเทศ ปรากฏว่างานไม่สามารถดำเนินการไปได้ตามเป้าหมายเท่าที่ควร จึงได้ดำเนินการพัฒนาต่อในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์การนิเทศ ทำให้ประสิทธิภาพของการดำเนินงานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนมีมาตรฐานการสูงขึ้น

ดาวน์โหลดบทคัดย่อ

การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามโครงการ “บ้าน โรงเรียนและสังคม” ร่วมใจ เพื่อพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนครนายกวิทยาคม

Comments

comments

- Advertisement -