การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง

0
1232

ชื่อเรื่อง : การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง
ผู้รายงาน : นางจตุพร สุทธิรัตน์ ตำแหน่ง วิทยฐานะ ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
ปีที่ทำการวิจัย : พ.ศ. 2560 –
บทคัดย่อ
การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ 2) พัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80 3) ศึกษาผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรม และ 4) ประเมินหลักสูตรฝึกอบรม การดำเนินการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและความต้องการ ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลจาก 3 ส่วน คือ 1 ) ศึกษาผลการนิเทศการจัดการเรียนรู้ 2) สอบถามข้อมูลพื้นฐานและความต้องการของครู จำนวน 78 คน และ 3) ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 จากนั้นวิเคราะห์ผลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการแจกแจงความถี่เป็นจำนวนและร้อยละ การดำเนินงานในระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมพร้อมทั้งเครื่องมือประกอบการใช้หลักสูตรฝึกอบรม จำนวน 5 ชุด คือ 1) หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง 2) คู่มือการใช้หลักสูตรฝึกอบรม 3) แบบทดสอบวัดความรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 4) แบบประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และ 5) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการเข้ารับการฝึกอบรม โดยแบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การสร้างและพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมและคู่มือการใช้ และขั้นตอนที่ 2 การทดสอบประสิทธิภาพแบบภาคสนามของหลักสูตรฝึกอบรม การดำเนินการวิจัยระยะที่ 3 เป็นการศึกษาผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรม โดยทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นครู โรงเรียนเทศบาลบ้านเขานิเวศน์ ปีการศึกษา 2561 จำนวน 21 คน ได้มาจากการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในระยะที่ 3 คือ เครื่องมือที่พัฒนาขึ้นในระยะที่ 2 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยเริ่มจากวัดความรู้เรื่อง ก่อนการเข้ารับการฝึกอบรม จากนั้นจัดการฝึกอบรม จากนั้นวัดความรู้หลังเข้ารับการฝึกอบรม จากนั้นสอบถามความพึงพอใจ และประเมินความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยการนิเทศการจัดการเรียนรู้ วิเคราะห์คะแนนความรู้ ความพึงพอใจ และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ด้วยค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นอกจากนี้เปรียบเทียบความรู้ก่อนและหลังการเข้ารับการฝึกอบรม ด้วยสถิติทดสอบ t ระหว่างกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่มที่ไม่เป็นอิสระต่อกัน และเปรียบเทียบความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หลังการเข้ารับการฝึกอบรมพร้อมทั้งเปรียบเทียบความพึงพอใจต่อการเข้ารับการฝึกอบรมกับเกณฑ์ที่กำหนด ด้วยสถิติทดสอบ t แบบกลุ่มตัวอย่าง 1 กลุ่ม และการดำเนินงานในระยะที่ 4 เป็นการประเมินหลักสูตรฝึกอบรมด้วยการสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ของกลุ่มตัวอย่างในระยะที่ 3 ที่ได้ทดลองใช้หลักสูตรฝึกอบรมนี้
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ครูทุกคนมีความต้องการที่จะเข้ารับการฝึกอบรม โดยลักษณะของการฝึกอบรมนั้นเน้นการฝึกปฏิบัติเทคนิคการจัดการเรียนรู้ การฟังบรรยายจากวิทยากร และการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
2. หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง มีจำนวน 3 หน่วย คือ หน่วยที่ 1 การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หน่วยที่ 2 แนวทางการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 และหน่วยที่ 3 การจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงาน ใช้เวลาทั้งสิ้น 20 ชั่วโมง ประกอบด้วย 9 หัวข้อ คือ 1) หลักการและเหตุผล 2) จุดมุ่งหมายของการฝึกอบรม 3) วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม 4) โครงสร้างของหลักสูตรฝึกอบรม 5) เนื้อหาสาระในการฝึกอบรม 6) ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกอบรม 7) กิจกรรมการฝึกอบรม สื่อที่ใช้ประกอบการฝึกอบรม และ 9) การวัดและประเมินผลการฝึกอบรม ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นด้วยกับหลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้นในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.82 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 0.18) และมีประสิทธิภาพ 86.98/81.90
3. ผลการใช้หลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง พบว่า
3.1 ครูมีความรู้เรื่องการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หลังการเข้ารับการฝึกอบรมสูงกว่าก่อนการเข้ารับการฝึกอบรม อย่างมีนับสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3.2 ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 หลังการเข้ารับการฝึกอบรมอยู่ในระดับดีขึ้นไป อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3.3 ครูมีความพึงพอใจต่อการเข้ารับการฝึกอบรมด้วยหลักสูตรอบรมนี้ อยู่ในระดับดีขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
4. ผลการประเมินหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง พบว่า หลักสูตรฝึกอบรมที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้องและเหมาะสมเป็นอย่างดี

ดาวน์โหลดบทคัดย่อ

การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความสามารถในการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 สำหรับครูในสังกัดเทศบาลเมืองระนอง

Comments

comments

- Advertisement -