ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาทาง คณิตศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและชุมชนการเรียนรู้แบบร่วมงานในชั้นเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
ชื่อผู้วิจัย นางรินท์ลภัส คูณสวัสดิ์ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลปราณบุรี (บ้านปลายน้ำ) สังกัดกองการศึกษา เทศบาลตำบลปราณบุรี
ตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ปีที่ศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการวิจัยเพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและชุมชนการเรียนรู้แบบร่วมงานในชั้นเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
2) เพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนหลังการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น ให้มีความสามารถการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์สูงกว่าร้อยละ 80 3) ศึกษาพฤติกรรมการทำงานกลุ่มของนักเรียนที่ได้รับการสอนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น และ 4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6/2 โรงเรียนเทศบาลปราณบุรี (บ้านปลายน้ำ) ที่ศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 18 คน ได้มาโดยการสุ่มอย่างง่าย (sample random sampling) โดยใช้รูปแบบการวิจัยเป็นแบบกลุ่มเดียวสอบหลังทดลอง (The One-Shot Case Study) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและชุมชนการเรียนรู้แบบร่วมงานในชั้นเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอน แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์การแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ แบบประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและชุมชนการเรียนรู้แบบร่วมงานในชั้นเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ 1) หลักการ 2) จุดมุ่งหมาย 3) กระบวนการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อมในการคิดวิเคราะห์ทางคณิตศาสตร์ ขั้นที่ 2 ขั้นการกระตุ้นความสนใจและวางแผนในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ขั้นที่ 3 ขั้นสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ขั้นที่ 4 ขั้นตรวจสอบความเข้าใจในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ขั้นที่ 5 ขั้นการประยุกต์ใช้ขยายความรู้ ขั้นที่ 6 ขั้นการประเมินผลหลังการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ 4) การวัดและประเมินผล ได้ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการเรียนการสอนเท่ากับ 81.44/82.22 สูงกว่าเกณฑ์ 80/80
2. นักเรียนที่ได้รับการสอนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ เพื่อความเข้าใจ หลังเรียน คิดเป็นร้อยละ 82.22 สูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 80 และเมื่อเทียบกับเกณฑ์การประเมินจัดอยู่ในเกณฑ์ที่มีความสามารถอยู่ในระดับสูง
3. นักเรียนที่ได้รับการสอนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น มีพฤติกรรมการทำงานกลุ่มอยู่ในระดับมากที่สุด
4. นักเรียนมีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนรูปแบบการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐานและชุมชนการเรียนรู้แบบร่วมงานในชั้นเรียน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อยู่ในระดับมาก
ดาวน์โหลดบทคัดย่อ