ชื่อเรื่อง : รายงานผลการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ อำเภอแม่ริม
จังหวัดเชียงใหม่
ผู้รายงาน : นายสุรพล ยะคำป้อ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยสถานศึกษา วิทยฐานะรองผู้อำนวยการชำนาญการ
สังกัด : โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเชียงใหม่
ปีการศึกษา : 2564
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานผลการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ และ 3) เพื่อเสนอแนวทางการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อให้บรรลุตามภาพอนาคตที่พึงประสงค์ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ปีการศึกษา 2564 ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 5 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 15 คน หัวหน้ากลุ่มงานกิจการนักเรียน จำนวน 1 คน ครูฝ่ายปกครอง จำนวน 10 คน หัวหน้าระดับชั้น จำนวน 6 คน หัวหน้างานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
จำนวน 1 คน ครูแนะแนว จำนวน 2 คน ครูที่ปรึกษา จำนวน 84 คน คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 49 คน และคณะกรรมการบริหารโรงเรียน จำนวน 24 คน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชากรทั้งหมด ทั้งนี้เพราะประชากรมีจำนวนจำกัด เครื่องมือที่ใช้ ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาสภาพและผลการดำเนินงานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพสำหรับผู้บริหารสถานศึกษา หัวหน้ากลุ่มงานกิจการนักเรียน หัวหน้าระดับชั้น และครูที่ปรึกษา 2) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อผลการดำเนินงานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพสำหรับคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง 3) แบบสัมภาษณ์เกี่ยวกับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ และ 4) แบบสนทนากลุ่ม (Focus Group) เกี่ยวกับการเสนอแนวทางการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติพื้นฐานในการวิเคราะห์ ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงคุณลักษณะใช้วิธีการวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content analysis) นำเสนอในรูปแบบแผนผังสาเหตุและผล (Cause and Effect Diagram) สังเคราะห์เป็นความเรียง ผลการศึกษา พบว่า
1. สภาพและผลการดำเนินงานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียน
นวมินทราชูทิศ พายัพ
1.1 การแสดงความคิดเห็นของผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า ด้านการวางแผนปฏิบัติการ เป็นด้านที่มีการปฏิบัติ คิดเป็นร้อยละ 100 ส่วนด้านการดำเนินงานตามแผนที่กำหนด
ด้านการตรวจสอบและประเมินผล และด้านการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานให้ได้มาตรฐานมีการปฏิบัติต่ำกว่าร้อยละ 100 ทุกด้าน ส่วนระดับความคิดเห็นของการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของผู้บริหารสถานศึกษา พบว่า ทุกด้านมีการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมากที่สุด ด้านที่มีการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมากที่สุด คือ ด้านการวางแผนปฏิบัติการ และด้านที่มีการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนน้อยที่สุด คือ ด้านการส่งต่อ
1.2 สภาพปัจจุบันของการดำเนินงานของหัวหน้ากลุ่มงานกิจการนักเรียนหัวหน้าระดับชั้น และครูที่ปรึกษา พบว่า ด้านที่มีการปฏิบัติมากที่สุด คือ การรู้จักนักเรียน
เป็นรายบุคคล และด้านที่มีการปฏิบัติน้อยที่สุด คือ ด้านการส่งต่อ ส่วนระดับความคิดเห็นของการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของหัวหน้ากลุ่มงานกิจการนักเรียน หัวหน้าระดับชั้น และครูที่ปรึกษา พบว่า ทุกด้านมีการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมากที่สุด ด้านที่มีการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนมากที่สุด คือ ด้านการคัดกรอง และด้านที่มีการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนน้อยที่สุด คือ ด้านการส่งต่อ
1.3 ความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อผลการดำเนินงานของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพประเมินโดยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และคณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครอง พบว่า ชุมชนมีความพึงพอใจต่อการดำเนินงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนตามกระบวนการของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยรายข้อจากมากไปน้อย 3 อันดับแรก คือ ด้านการส่งเสริมและพัฒนา ด้านการคัดกรอง ด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหา
2. ผลการศึกษาเหตุปัจจัยสำคัญ แยกเป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยที่สนับสนุนและปัจจัยที่ฉุดรั้งดังนี้ ปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ มีแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา มีโครงสร้างชัดเจนแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มีทัศนคติที่ดี ส่วนเหตุปัจจัยที่ฉุดรั้ง ได้แก่บุคคล ครูบางคนขาดความรู้ความเข้าใจในระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และจิตวิทยาแนะแนว ขาดวัสดุอุปกรณ์ที่ทันสมัย ขาดความเข้มงวดในการกำกับ ติดตามในการดำเนินงาน จากทีมผู้รับผิดชอบและวิธีการยังขาดความทันสมัยในการจัดการเกี่ยวกับข้อมูลสารสนเทศ โครงการ กิจกรรม ควรจัดให้เหมาะสมกับนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มมีปัญหา ปัญหาด้านการสื่อสารกับเครือข่ายในชุมชนค่อนข้างมีน้อย และขาดการทำวิจัยที่เกี่ยวกับงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนโดยตรง
3. แนวทางการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ให้บรรลุตามภาพอนาคตที่พึงประสงค์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ ในช่วงปีการศึกษา 2565 – 2567 จำนวน 2 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร และยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาคุณภาพระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้มีความเข้มแข็งขึ้น เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา สภาพการบริหารงานระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน และปัจจัยฉุดรั้งที่เกิดขึ้นกับระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียนของโรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพ เพื่อพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน โรงเรียนนวมินทราชูทิศ พายัพให้มีคุณภาพและยั่งยืน
ดาวน์โหลดบทคัดย่อ